นายกรัฐมนตรี ร่วมงาน การประกาศใช้พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565

แชร์หน้านี้


        เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เวลา 08.45 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการ “การดำเนินการตาม พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565” พร้อมด้วยพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมเป็นเกียรติในงาน โดยมีนางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ร่วมต้อนรับ

        นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ร่วมกันจัดทำกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการติดต่อราชการผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยลดเอกสาร ลดการเดินทาง ประหยัดเวลาในการติดต่อราชการ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามดำเนินการมาโดยตลอดในการแก้ไขโครงสร้างกฎหมาย เพื่อลดอุปสรรค ลดภาระให้แก่ประชาชน โดยที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้เริ่มปรับตัวในการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในอนาคตทุกหน่วยงานจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ทั้งหมด โดยนายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานราชการและประชาชนทั่วไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อประโยชน์จะได้เกิดขึ้นแก่ประชาชน และประเทศชาติต่อไป

         นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในช่วงที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์โควิด-19 หลายส่วนราชการได้มีการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการเป็นรัฐบาลดิจิทัลมาโดยตลอด ซึ่งบัดนี้ ทุกหน่วยงานสามารถให้บริการและติดต่อระหว่างราชการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยมีกฎหมายรองรับชื่อ “พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565” ซึ่งบางมาตราอาจยังไม่ได้บังคับใช้ แต่ท้ายที่สุดจะต้องบังคับใช้ทั้งหมด และหากส่วนราชการใดยังไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เจ้าหน้าที่ตั้งแต่ผู้ปฏิบัติรวมถึงผู้บังคับบัญชาอาจมีความผิดได้ ทั้งนี้ งานบริการบางประเภทอาจยังต้องดำเนินการด้วยตนเอง เช่น การจดทะเบียนสมรส จดทะเบียนหย่า การรับบุตรบุญธรรม การขอมีบัตรประจำตัวประชาชน และการขอหนังสือเดินทาง และกฎหมายนี้บังคับใช้กับฝ่ายบริหารเท่านั้น ยังไม่บังคับใช้กับฝ่ายตุลาการ นิติบัญญัติ รวมถึงองค์กรอิสระ

         ทั้งนี้ ผู้บริหารจากทั้ง 4 หน่วยงานได้ร่วมกันชี้แจงเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อม โดยเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้กล่าวว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นกฎหมายกลางที่ช่วยลดข้อจำกัด และอุปสรรคในการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ในส่วนของเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้ให้ความมั่นใจแก่หน่วยงานว่า สำนักงาน ก.พ.ร. และอีกทั้ง 3 หน่วยงานพร้อมส่งเสริม สนับสนุน ตลอดจนให้คำปรึกษา แนะนำแก่หน่วยราชการในการดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฯ รวมถึงผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้กล่าวเสริมว่า สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้ออกแนวทางปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัล ที่เป็นเครื่องมือสำคัญให้หน่วยงานสามารถดำเนินการ ทั้งในส่วนของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และการให้บริการประชาชนให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว ตลอดจนรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้กล่าวเพื่อสร้างมั่นใจเพิ่มเติมว่า สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้กำหนดมาตรฐานที่สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน และการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น มาตรฐานด้านการออกเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ มาตรฐานด้านการยืนยันตัวตน เพื่อให้หน่วยงานมีแนวทางในการพัฒนาให้การปฏิบัติงานของหน่วยงานและการให้บริการประชาชน เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ต่อไป