สิงห์บุรีโมเดล "ต้นแบบเมืองลดฝุ่น"

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารงานภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) ได้ร่วมสนทนาออน์ไลน์ ซึ่งจัดโดย สกสว.และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ประเด็น “ปลดล็อค! เพื่ออากาศสะอาด” From Output to Impact : ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมไทยกับการแก้วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ในหัวข้อ “สิงห์บุรีโมเดล ต้นแบบเมืองลดฝุ่น” สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

         1. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำประเด็นปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) มาดำเนินการ เพื่อเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ โดยใช้แนวคิดภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ซึ่งเริ่มต้นจากการเปิดเผยข้อมูลต้นเหตุของปัญหาฝุ่น PM 2.5 และร่วมกันวิเคราะห์กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมีกลไกของคณะทำงานการขับเคลื่อนในพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การปลดล๊อคอุปสรรคต่างๆ

         2. สาเหตุของปัญหา PM 2.5 ของจังหวัดสิงห์บุรี ส่วนใหญ่มาจากการเผาในที่โล่งทางการเกษตร ดังนั้น หากสามารถจัดการกับสาเหตุหลัก คือ การเผาในพื้นที่โล่งได้ คนในจังหวัดสิงห์บุรีจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

         3. แนวทางในการดำเนินการ คือ “การสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย” อย่างครบวงจร โดยเริ่มต้นจากการเปิดเผยข้อมูลแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เพื่อให้เห็นข้อมูลแปลงอ้อยที่ใช้คนตัดและรถตัด ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด การสร้างแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยภาครัฐได้มีการออกนโยบาย และภาคเอกชนสนับสนุนการดำเนินการ โดยมีการรับซื้ออ้อยสดในราคาตันละ 1,000 บาท และหักราคาอ้อยไฟไหม้ ตันละ 30 บาท ในอนาคตหากภาครัฐบาลสามารถมีระบบจำนำข้าวหรือประกันราคาสำหรับข้าวที่ไม่มีการเผาในพื้นที่นา ก็อาจจะช่วยลดปัญหาการเผาลงได้เพิ่มมากขึ้น

         4. หน่วยงานต่างๆ ได้มีความร่วมมือและเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ร่วมกัน เช่น สกสว. ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมในเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องการจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการของระบบนิเวศ (Payment for Ecosystem Service : PES) วช. สนับสนุน Low cost sensor ในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี GISTDA ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบจองเผา (จองเบิร์น) UNDP ได้นำตัวอย่างความสำเร็จของต่างประเทศมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 เช่น ประเทศอาเจนติน่ามีการนำเซนเซอร์ไปติดไว้ที่จักรยานของประชาชนเพื่อช่วยกันเก็บข้อมูลค่าฝุ่นในแต่ละวัน เป็นต้น

         5. การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ UN Climate Change Conference of the Parties (COP26) ทุกประเทศทั่วโลกมุ่งมั่นที่จะสร้างการมีส่วนร่วมและมีการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนในเป้าหมายเดียวกัน คือ การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยก็กำลังดำเนินการเพื่อเป้าหมายเดียวกันนี้เช่นกัน

         #สิงห์บุรีโมเดล รับชมได้ที่ https://fb.watch/aNGH1tG40D/