การประชุมคณะทำงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาภาครัฐระบบเปิด (Open Government Partnership : OGP) ในระดับพื้นที่ จังหวัดสิงห์บุรี ครั้งที่ 1/2564

แชร์หน้านี้



         เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี (นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม) ประธานคณะทำงาน รองประธานคณะทำงาน (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) ผู้แทนจาก GISTDA สกสว. สพร. UNDP ประเทศไทย ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดสิงห์บุรี และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ประชุมคณะทำงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาภาครัฐระบบเปิด (Open Government Partnership : OGP) ในระดับพื้นที่ จังหวัดสิงห์บุรี ครั้งที่ 1/2564 เวลา 10.45 น. ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการพิจารณาและรับทราบวาระต่าง ๆ ดังนี้

         1. พิจารณาเห็นชอบการติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) แบบ Low Cost Sensor ในจังหวัดสิงห์บุรี โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสิงห์บุรี จะร่วมพิจารณาจุดติดตั้งที่มีความเหมาะสมอีกครั้ง

         2. พิจารณาเห็นชอบแผนการพัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (Open Government and Meaningful Participation Ecosystem : OG & MP) ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดสิงห์บุรี โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

             1) เป้าหมาย : แก้ไขปัญหาในจุดที่เป็นปัญหาสำคัญ (Pain Point) ของพื้นที่ ได้แก่ “พื้นที่การเกษตร” เช่น นาข้าว และไร่อ้อย โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ “การลดพื้นที่การเผาในพื้นที่โล่งทางการเกษตร”

             2) แนวทางการดำเนินการ : บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และ UNDP ประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสิงห์บุรี

             3) ระยะเวลาดำเนินการ พฤศจิกายน 2564 – สิงหาคม 2565

             4) แผนการพัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (Open Government and Meaningful Participation Ecosystem : OG & MP) ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดสิงห์บุรี ตามองค์ประกอบ OG&MP มีดังนี้

                 4.1) การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ : เชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เหลือให้ครบถ้วน เช่น ข้อมูลเชิงเรื่องราว (Story) Timeline และ Time Series ฯลฯ และสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูล เป็นต้น

                 4.2) นโยบายและกฎหมายที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา เช่น ส่งเสริมให้เกษตรกรนำเศษวัสดุการเกษตรไปใช้ประโยชน์หรือย่อยสลาย ด้วยวิธีที่เหมาะสมแทนการใช้วิธีการเผา รวบรวมปัญหาอุปสรรค/ข้อจำกัดของการลดการเผาในพื้นที่โล่งการเกษตร เป็นต้น

                 4.3) การสร้างภาคีเครือข่าย เช่น สร้างเครือข่าย อาสาสมัคร และจิตอาสา เพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่โล่งการเกษตร ส่งเสริมเยาวชน คนรุ่นใหม่ ให้เข้ามามีส่วนร่วม ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่

                 4.4) การสร้างแรงจูงใจ เช่น เสริมสร้างแรงจูงใจเชิงบวกเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวัฒนธรรมเพื่อลดการเผาในพื้นที่เกษตร ส่งเสริมการบริหารจัดการเชื้อเพลิง (โครงการชิงเก็บ ลดเผา) เป็นต้น

                 4.5) การสนับสนุนองค์ความรู้และทรัพยากร เช่น สนับสนุนองค์ความรู้เพื่อลดการเผาในพื้นที่โล่งการเกษตร สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ เพื่อลดการเผาในที่โล่งการเกษตร

                 4.6) การสนับสนุนเทคโนโลยี นวัตกรรม เช่น ส่งเสริมการใช้ ระบบ Bern Check การติดตั้ง Low Cost Sensor ในพื้นที่ สนับสนุนเครื่องจักรกลในการลดการเผา

                 4.7) การติดตามนโยบายของภาครัฐ เช่น กำหนดตัวชี้วัดเพื่อลดการเผาในพื้นที่โล่งการเกษตร และติดตามตรวจสอบสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

                 4.8) การสร้างวัฒนธรรม เช่น ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างวัฒนธรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดการเผาในพื้นที่โล่ง การเกษตรอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหา PM 2.5 เป็นต้น

          2. รับทราบการดำเนินงาน 2 เรื่อง ได้แก่

              2.1 คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาภาครัฐระบบเปิดในระดับพื้นที่ จังหวัดสิงห์บุรี

              2.2 การใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มกลางในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)