สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุม อ.ก.พ.ร. เกี่ยวการขับเคลื่อนระบบราชการเพื่ออนาคต ครั้งที่ 3/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เวลา 9.30 น. สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุม อ.ก.พ.ร. เกี่ยวการขับเคลื่อนระบบราชการเพื่ออนาคต ครั้งที่ 3/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สรุปสาระสำคัญดังนี้

         1. ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI พร้อมด้วยทีมนักวิจัยได้นำเสนอผลการศึกษาโครงการพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐเพื่ออนาคต (Future Government) ในปี 2564 และแผนการดำเนินโครงการในปี 2565 โดย อ.ก.พ.ร. ได้มีความเห็นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการดำเนินงานต่อไป ดังนี้

             1.1 การจัดตั้งหน่วยติดตามและผลักดันการปฏิบัติ (Delivery Unit) ควรใช้หน่วยงานเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น ส.ป.ย.ป. หรือสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (PMDU) มาขับเคลื่อนการดำเนินงาน และอาจปรับหน่วย Delivery Unit ให้มีการกระจายอำนาจ/การทำงานไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ตลอดจนดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้เห็นควรให้ TDRI ศึกษาอุปสรรค/ปัญหาของการตั้ง Delivery Unit ในต่างประเทศ พร้อมศึกษากลไกการดำเนินการเพื่อนำมาปรับใช้กับบริบทของไทย
             1.2 การจัดตั้ง Regulatory Sandbox สำนักงาน ก.พ.ร. ควรพิจารณาดำเนินงานร่วมกับโครงการ EEC เพื่อสร้างพื้นที่นำร่อง Sandbox ในไทย โดยพิจารณาผ่อนคลายกฎระเบียบในพื้นที่ทดลอง เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งพิจารณาเลือกปัญหาที่สำคัญของประเทศและจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน มาดำเนินการในลักษณะ Sandbox เพื่อแก้ไขต้นตอของปัญหาและประหยัดทรัพยากรของภาครัฐ โดยอาจดำเนินการเชื่อมโยงกับหมุดหมายต่าง ๆ ตามร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13
             1.3 ควรส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนดำเนินงานร่วมกัน หรือภาครัฐควรพิจารณาถ่ายโอนงานบางส่วนให้แก่เอกชนที่มีความชำนาญเป็นผู้ดำเนินการแทน เช่น บริการ One Stop Service โดยศึกษากลไกการมีส่วนร่วมใหม่ ๆ นอกเหนือจากการทำสัญญาจ้าง
             1.4 ภาครัฐควรใช้ Foresight Tool ในการคิดล่วงหน้าให้มากขึ้น เพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น เทคโนโลยี Metaverse
             1.5 ภาครัฐควรใช้ความระมัดระวังในการสื่อสารต่อประชาชน เมื่อใช้เครื่องมือ Nudge Unit (บทเรียนจากการดำเนินงานของกรมสรรพากร)
             1.6 ในปี 2565 ควรศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาของภาครัฐในระดับโครงสร้าง เช่น การขยายขนาดภาครัฐ ประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ เพื่อวางแนวทางแก้ไขได้ครอบคลุมภาพรวมยิ่งขึ้น
             1.7 เห็นควรให้ TDRI นำหน้าที่ภาครัฐขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นสูง มาทาบกับเครื่องมือการบริหารจัดการที่นำเสนอ เพื่อจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่จะทดลองดำเนินการ และขยายผลการดำเนินงานในภาพใหญ่ต่อไป

         2. สำนักงาน ก.พ.ร. นำเสนอผลการขับเคลื่อนนวัตกรรมภาครัฐผ่านโครงการพัฒนานวัตกรรมงานบริการภาครัฐ (Government Innovation Lab) และแผนการดำเนินโครงการในปี 2565 โดย อ.ก.พ.ร. มีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้

             2.1 ควรมีการศึกษาและพัฒนา Business Model ในการนำ Prototype ไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพัฒนา/ปรับปรุงระบบงานได้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบัน
             2.2 สำนักงาน ก.พ.ร. ควรส่งเสริมให้หน่วยงานราชการมีความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของโครงการในการพัฒนานวัตกรรมงานบริการภาครัฐเพื่อที่จะนำไปปฏิบัติให้เกิดผล

         3. สำนักงาน ก.พ.ร. หารือ (ร่าง) กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2566 – 2570) โดย อ.ก.พ.ร. มีความเห็นเพื่อประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์ฯ ในเบื้องต้น ดังนี้

             3.1 เพิ่มเรื่องการปรับ Mindset ของบุคลากรภาครัฐโดยอาจเริ่มจากการปรับวิธีการทำงาน (System of Work) ที่เพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ปฏิบัติงานควบคู่กับการกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่ชัดเจน
             3.2 ควรระบุผลลัพธ์ (Key Result) ของการทำงานในแต่ละกลยุทธ์ให้ชัดเจนโดยเน้นผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ
             3.3 ควรส่งเสริมให้บุคลากรจากภาคส่วนอื่น ทั้งภาคเอกชนและประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย
             3.4 กรณีการปรับโครงสร้างภาครัฐควรมีการสร้างแรงจูงใจให้หน่วยงานภาครัฐปรับบทบาท/ลด/ยกเลิก/ถ่ายโอนภารกิจ ควบคู่ไปกับกลยุทธ์อื่น ๆ (Exit Strategy)
             3.5 สนับสนุนให้มีการวัดผลประเมินการใช้งบประมาณอย่างมีคุณภาพ โดยประเมินทั้งด้านหลักการและเหตุผลของการใช้งบประมาณ (Objective) และด้านความรู้สึกของประชาชนต่อการใช้งบประมาณของภาครัฐ (Subjective)
             3.6 เห็นควรให้ TDRI ศึกษากรณีตัวอย่างจากต่างประเทศ เพื่อควบคุมขนาดของภาครัฐที่เหมาะสม ประกอบไปด้วย (1) การจัดตั้งตำแหน่งใหม่ในหน่วยราชการ (2) การตั้งกรอบอายุของการแต่งตั้งคณะกรรมการ และ (3) การยุบเลิกคณะกรรมการที่มีอยู่เดิม
             3.7 กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นในเรื่องการปรับโครงสร้างภาครัฐ การแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัย การจัดสรรงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินงาน จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปการทำงานของหน่วยงานกลางอื่น ๆ นอกเหนือจากสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงาน ก.พ. ร่วมด้วย เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง เพื่อให้ภาครัฐสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติได้จริง

         ทั้งนี้ อ.ก.พ.ร. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดประชุม Focus Group ระหว่าง อ.ก.พ.ร. และทีมนักวิจัย TDRI เพื่อพิจารณาในรายละเอียดและวางกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2566 – 2570) ร่วมกันต่อไป