สำนักงาน ก.พ.ร. จัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นของส่วนราชการที่มีต่อ “การวิเคราะห์สภาวการณ์การบริหารงานภาครัฐแบบองค์รวมและการมองภาครัฐแห่งอนาคต”

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นของส่วนราชการที่มีต่อ “การวิเคราะห์สภาวการณ์การบริหารงานภาครัฐแบบองค์รวมและการมองภาครัฐแห่งอนาคต” โดยมี ดร.นิชา สาทรกิจ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ กล่าวถึงภาพรวมว่า กิจกรรมการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นมีความสำคัญเพราะเป็นการนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ OECD ได้จัดทำไว้ มาพิจารณาร่วมกับความคิดเห็นของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ว่าควรต้องมีการปรับปรุง หรือปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของภาครัฐไทยหรือไม่ เพื่อยกระดับการทำงานของภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลเปิดที่นำนวัตกรรมมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ความคิดเห็นในวันนี้จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะในระดับชั้นของนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง

         การนำเสนอโครงการวิเคราะห์สภาวการณ์การบริหารงานภาครัฐแบบองค์รวมและการมองภาครัฐแห่งอนาคต โดย

         1. รศ.พ.ต.ต.ดร. ดนุวศิน เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
         2. ผศ.ดร.ธัญรัตน์ อมรเพชรกุล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
         3. ผศ.ดร.ปนันดา จันทร์สุกรี อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

         สาระสำคัญประกอบด้วย

         ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มควรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นที่จะนำไปสู่การกำหนดกรอบนโยบายการพัฒนารัฐบาลเปิดและทบทวนเพื่อปรับเปลี่ยนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจของประชาชนต่อภาครัฐ
         การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐควรเป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ (User-Centric) และอยู่ในรูปแบบที่สามารถสืบค้นและนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย
         การพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนรัฐบาลเปิดต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคการศึกษา

         การเสวนาหัวข้อ "ประสบการณ์ในการยกระดับภาครัฐไทยสู่การเป็นรัฐบาลเปิดอย่างสมบูรณ์" โดย

         1. ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาและรักษาการรองผู้อำนวยการ (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ : สพธอ.)
         2. คุณยิ่งลักษณ์ สมศิริ ผู้อำนวยการส่วนดำเนินการเรื่องร้องเรียนและตอบข้อหารือ (สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ : สขร.)
         3. คุณสัญชัย เตชนิมิตวัช ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบข้อมูล (กรมการปกครอง)
         4. คุณขนิษฐา สหเมธาพัฒน์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กรมสรรพากร)

         สพธอ. มีบทบาทส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างบูรณาการและเชื่อมโยง และชี้แนะว่าการเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลควรภาครัฐและเป็นการสร้างธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ ทั้งนี้ แต่สิ่งสำคัญที่ควรคิดต่อ คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนนำข้อมูลไปใช้ต่อให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง และเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

         ผู้แทน สขร. ชี้แจงว่า ข้อมูลเปิดภาครัฐควรมีลักษณะ "เปิดเผยเป็นหลัก (open by default)" แต่ในปัจจุบันยังคงเป็นแบบ "ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น (close by default)" เนื่องจากส่วนราชการยังใช้ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ เป็นเกณฑ์กำหนดว่าข้อมูลลักษณะใดที่สามารถเปิดเผยได้และเปิดเผยไม่ได้ สำหรับข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเสมอก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลได้

         กรมการปกครองอาศัยอำนาจตามกฎหมายทะเบียนราษฎรที่อนุญาตให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรได้ ทำให้หน่วยงานรัฐสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันได้ นอกจากนี้ยังดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) เพื่อสร้างต้นแบบและนวัตกรรมใหม่ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของประเทศเพื่อรองรับการใช้งานบริการภาครัฐ และจัดทำระบบ “Check Card Status” ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบสถานะบัตรที่ให้ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน และสถาบันการเงินสามารถใช้บริการได้
         ผู้แทนกรมสรรพากร สรุปปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นต้นแบบภาครัฐดิจิทัล คือ (1) "ผู้นำ" เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) (2) การสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ตั้งใจมอบการบริการที่ดีที่สุดให้กับประชาชน ผ่านแนวคิด citizen centric framework ในการปรับทั้งกระบวนการทำงานภายในองค์กรและกระบวนการให้บริการประชาชนมาตั้งแต่ 2544 (3) การเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐในการพัฒนางานบริการดิจิทัล เช่น กรมการปกครอง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า BOI และกรมศุลกากร และ (4) การให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร โดยมีหลักสูตรทั้ง Design Thinking และ Digital Transformation

         กิจกรรมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับ “บทบาทและการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนหน่วยงานไปสู่การเป็นรัฐบาลเปิดในประเทศไทย” โดยมีการแบ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็น 3 กลุ่ม

         กลุ่ม 1: การพัฒนาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศการทำงาน
               สาระสำคัญ : อุปสรรคและปัญหาในการเปิดเผยข้อมูล คือ วัฒนธรรมองค์กรที่ผู้บริหารไม่ต้องการที่จะเปิดเผยข้อมูล ความล่าช้าในการบริหารงาน และการเปิดเผยข้อมูลควรเริ่มจากข้อมูลที่ใกล้ชิดกับประชาชน พร้อมทั้งควรเปิดเผยข้อมูลแบบเรียลไทม์ สำหรับปัจจัยสำคัญในการปฏิรูปภาครัฐไทยไปสู่การเป็นรัฐที่เปิดกว้าง คือ ทัศนคติของผู้นำ

         กลุ่ม 2: การจัดสรรงบประมาณและการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ
               สาระสำคัญ : การจัดสรรงบประมาณควรมีการทำฐานข้อมูลแบบเปิด และควรมีช่องทางสำหรับร้องเรียนและขอความเป็นธรรมผ่านระบบศูนย์กลางที่โปร่งใสและไว้วางใจได้ สำหรับการพัฒนาบุคลากรเพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนรัฐบาลเปิด ควรปลูกฝังหรือปรับทัศนคติให้คนในหน่วยงานรัฐตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเพิ่มทักษะที่ส่งเสริมการใช้ข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคการศึกษา

         กลุ่ม 3: ข้อมูลเปิดภาครัฐและการพัฒนาบริการสาธารณะ
               สาระสำคัญ : สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างรัฐบาลเปิด คือ การเชื่อมโยงข้อมูลของภาครัฐ และการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ กฎหมายล้าสมัยที่ไม่ได้ปรับให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน และขั้นตอนการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนของหน่วยงานรัฐที่ไม่มีความยืดหยุ่น ดังนั้นหน่วยงานรัฐจึงควรมีการคัดกรองข้อมูลอยู่เสมอ และมีแพลตฟอร์มกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลของภาครัฐเพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว

         กิจกรรมนี้ทำให้คณะที่ปรึกษาได้รับฟังข้อมูลและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการขับเคลื่อนรัฐบาลเปิดของประเทศไทย โดยจะนำข้อมูลและความคิดเห็นทั้งหมดไปสังเคราะห์เพื่อปรับปรุงหลักการชี้แนะไปสู่การเป็นรัฐบาลเปิดของประเทศไทยต่อไป