งาน Virtual Seminar เปิดตัว 'แอปพลิเคชันทางรัฐ'

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 เวลา 14.00 น. รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) ได้เข้าร่วมงาน Virtual Seminar เปิดตัว 'แอปพลิเคชันทางรัฐ' ผ่านระบบออนไลน์ และร่วมเสวนาใน หัวข้อ ‘ทางรัฐ’ แอปฯ เดียว เพื่อประชาชนทุกช่วงวัย โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และผู้แทนจากหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กรมการปกครอง สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และ สำนักงานประกันสังคม เข้าร่วมเสวนา

         โดยนายอนุชา นาคาศัย ได้มอบนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาภาครัฐสู่การเป็น “รัฐบาลดิจิทัล” เป็นโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนในการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนให้สามารถอำนวยความสะดวกได้ทุกที่ ทุกเวลา มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และสามารถลดภาระค่าใช้จ่าย ลดขั้นตอน ลดข้อจำกัดด้านกฎหมาย พร้อมสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐเร่งดำเนินพัฒนางานบริการได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการเชื่อมโยงงานบริการบนแพลตฟอร์มกลางที่ สพร. พัฒนาขึ้นที่มีชื่อว่า “ทางรัฐ” ที่สามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ทุกเวลา โดยได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆ ในการนำงานบริการมาเชื่อมโยงบนทางรัฐ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกคน ทุกช่วงวัย อย่างทั่วถึง เท่าเทียม

         ในช่วงของการนำเสนอแอปพลิเคชัน ทางรัฐ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ได้กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาเครื่องมือของภาครัฐเพื่อตอบสนองความคาดหวังในการให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็วทุกที่ ทุกเวลา และได้นำเสนองานบริการที่ตอบสนองความต้องการแต่ละช่วงวัยที่สามารถให้บริการบนทางรัฐ เช่น วัยแรกเกิดในการตรวจสอบสถานะสิทธิจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน วัยเรียนในการขอรับหนังสือรับรองผลคะแนน O-Net จากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติได้ วัยทำงานในการตรวจสอบสิทธิประกันสังคมรวมถึงวัยชราในการตรวจสอบยอดเงินสมทบชราภาพจากสำนักงานประกันสังคม ดังนั้นการรวมงานบริการภาครัฐต่างๆ เข้าสู่ portal กลาง จึงเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

         ในช่วงของการเสวนาใน หัวข้อ ‘ทางรัฐ’ แอปฯ เดียว เพื่อประชาชนทุกช่วงวัย

         นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้นำเสนอแนวคิดการสร้างการบริการรูปแบบใหม่ผ่านบริการดิจิทัลโดยส่งเสริมการนำ Automated Processing มาใช้ในการให้บริการ รวมถึง Zero-touch ที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ และการทบทวนกฎหมายที่เป็นปัญหาอุปสรรค รวมถึงการ reprocess กระบวนการต่างๆ โดยอยู่บนหลักการ Customer centric government ในการรับฟังเสียงของประชาชน ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนางานบริการได้ตอบสนองกับความต้องการและความคาดหวังของประชาชนได้อย่างแท้จริง

         นายสัญชัย เตชนิมิตวัช ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบข้อมูล กรมการปกครอง ได้นำเสนอการพิสูจน์และยืนยันตัวตนในการเข้าใช้งานทางรัฐ โดยผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA ซึ่งได้มีการพัฒนาตามมาตรฐานสากลและมีความน่าเชื่อถือระดับสูง (IAL 2.3) ทำให้สามารถยืนยันตัวตนในโลกออนไลน์ เสมือนบัตรประชาชนในโลกดิจิทัล ที่สามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตนได้อย่างชัดเจน สามารถเข้าถึงงานบริการบนทางรัฐได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

         นางสาวอภิณห์พร อังคกมลเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้กล่าวถึงที่มาในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นภาครัฐที่สามารถตอบสนองความคาดหวังของประชาชน โดยมีจุดมุ่งหมาย 2 มิติ คือ ครอบคลุมบริการทุกช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา และครอบคลุมในมิติ end-to-end process ตั้งแต่การรู้ ยื่น จ่าย รับ ซึ่งจะสามารถตอบสนองความต้องการได้ทุกช่วงวัยในทุกมิติ

         นางอังคณา ใจกิจสุวรรณ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำเสนอการตรวจสอบสิทธิการรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด รวมถึงแผนการขยายผลเพื่อให้บริการผู้พิการในอนาคต

         ดร.วารุณี เลียววิวัฒ์ชัย รองผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นำเสนอการขอรับหนังสือรับรองผลคะแนน O-Net

         นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด นำเสนอการตรวจสอบเครดิตบูโร

         นายมนตรี กรรทมาศ ผู้ตรวจราชการ สำนักงานประกันสังคม นำเสนอการตรวจสอบสิทธิประกันสังคม และยอดเงินสมทบชราภาพ

         ทั้งนี้หากทุกหน่วยงานสามารถเชื่อมโยงงานบริการไว้ในจุดเดียวได้จะสามารถลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงงานบริการได้เบ็ดเสร็จในจุดเดียวได้อย่างแท้จริง