การประชุมหารือ เรื่อง “การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ด้านการได้รับสินเชื่อ”

แชร์หน้านี้


         สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมหารือ เรื่อง “การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ด้านการได้รับสินเชื่อ” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เวลา 13.00 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นางสาวรัชฎา อนันตวราศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญภาคการเงินอาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย นายณัฏฐา พาชัยยุทธ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล และผู้แทนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงาน ก.ล.ต. เข้าร่วมการประชุมหารือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันหารือเกี่ยวกับการประเมินพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 และการดำเนินการจดแจ้งหลักประกันทางธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ

         สรุปประเด็นสำคัญของการประชุมหารือ ดังนี้

         1. การปรับปรุงกฎหมายโดยใช้กลไกการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558

             - การประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยเพิ่มประเภททรัพย์สินที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันได้ เช่น กิจการ ทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น แต่หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฯ พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญในการเข้าถึงสินเชื่อก่อนการใช้ พ.ร.บ.ฯ

             - การเก็บข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่พบในทางปฏิบัติของการใช้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจฯ ทั้งในการจดทะเบียนและการบังคับคดี ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำมาใช้วิเคราะห์เพื่อหาทางเลือกในการปรับปรุง เพื่อให้ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

         2. การดำเนินการด้านกฎหมาย

             - จากข้อเสนอแนะของธนาคารโลกที่ให้มีการบูรณการกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของหลาย ๆ ประเทศนั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่ายังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับปรุงตามแนวทางดังกล่าว เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน จึงควรพิจารณาทางเลือกอื่นในการปรับปรุงกฎหมายที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการได้รับสินเชื่อ ดังนี้

                1) ดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้เปลี่ยนจากการ “จดทะเบียน” เป็น “จดแจ้ง” พร้อมพัฒนาระบบการจดแจ้งให้มีความสอดคล้องกันตามกฎหมายและเป็นไปอย่างทันทีทันใด และการเชื่อมต่อระบบศูนย์ข้อมูลสิทธิในหลักประกันและระบบข้อมูลสินเชื่อในประเทศ

                2) การทำให้ประเภทของสินทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกันสามารถนำมาใช้ได้จริง ได้แก่ ส่งเสริมการนำทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ แต่จากที่ผ่านมาพบว่าทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหลักประกันที่ประเมินเป็นมูลค่าได้ยาก จำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางในการประเมินทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ อาจนำหน่วยงานภาครัฐด้านนวัตกรรมมาเป็นหน่วยงานกลาง เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) หรือ การนำกิจการ มาเป็นหลักประกัน ซึ่งต้องกำหนดแนวทางการตีมูลค่า

             - นำตลาดทุนมาช่วยส่งเสริมการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสินเชื่อ โดยสำนักงาน ก.ล.ต. จะศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการ

         3. แนวทางการดำเนินการเพื่อการจดแจ้งหลักประกันทางธุรกิจ และระบบค้นหาข้อมูลหลักประกันทางอิเล็กทรอนิกส์

             - ปัจจุบันกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจให้อยู่ในรูปแบบการจดแจ้งแล้ว แต่ยังไม่เป็นแบบ Real time เนื่องจากต้องรอเจ้าหน้าที่เป็นผู้อนุมัติ ทำให้ดำเนินการได้เฉพาะในวันและเวลาราชการเท่านั้น ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะพัฒนาระบบให้สามารถอนุมัติได้แบบ Real time หลังการชำระเงินโดยการนำลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ รวมทั้งสามารถออกใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ได้

             - ปัจจุบันระบบการตรวจค้นข้อมูลหลักประกันทางอิเล็กทรอนิกส์มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และสามารถค้นได้จากเลขทะเบียนทรัพย์สิน เลขที่บัตรของผู้ให้และผู้รับหลักประกัน ในอนาคตจะพัฒนาให้สามารถค้นหาได้จากเลขสัญญาหลักประกันได้ด้วย ทั้งนี้ ต้องพัฒนาระบบการจดทะเบียนหลักประกันของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เป็นแบบเอกสารให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ด้วย เพื่อจะได้ส่งข้อมูลเข้าระบบการตรวจค้นข้อมูลหลักประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แบบ Real time

             - หากมีการพัฒนาระบบการตรวจค้นข้อมูลหลักประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ครบถ้วน กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะลดช่องทางการให้บริการตรวจค้นข้อมูลหลักประกันเหลือเพียง Biz Portal ช่องทางเดียว เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการของภาครัฐ