สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมเปิดตัว Eastern Economic Corridor One Stop Service (EEC–OSS)

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานพิธีเปิดให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC-OSS จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ณ ห้องบอลรูมอินฟินิตี้ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ ถนนรางน้ำ กรุงเทพฯ

         ระบบ Eastern Economic Corridor One Stop Service หรือ EEC-OSS เป็นระบบการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษผ่านทางออนไลน์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และโปร่งใส อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ซึ่งมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการบริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร โดยนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการให้บริการ สามารถขออนุมัติอนุญาตผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษที่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกด้วยบริการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะให้บริการในพื้นที่เขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ระบบ EEC-OSS ได้พัฒนาขึ้นโดยอาศัยต้นแบบจากระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบ Biz Portal ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้มีการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน

         นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวปาฐกถาพิเศษ สรุปได้ดังนี้ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ไม่เพียงแต่เพื่อรองรับการขับเคลื่อนพัฒนาด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และเกิดความยั่งยืน และเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ ประกอบด้วย (1) การมีเสถียรภาพทางการเมืองการปกครอง (2) การมีต้นทุนที่มีความเหมาะสม ต้นทุนในที่นี้หมายถึง ต้นทุนจากการลงทุนทั้งด้านที่ดิน แรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน และการปฏิบัติตามกฎหมายที่สามารถสะท้อนได้จากบริการภาครัฐที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สิ่งที่รัฐบาลพยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือ การสร้าง Ecosystem ให้เกิดขึ้น นั่นคือ

          (1) การตราพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ซึ่งเป็นการแสดงขั้นตอนและกระบวนการในการขออนุมัติอนุญาตให้ประชาชนรับทราบ
          (2) การพัฒนาระบบ Biz Portal เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มในการขออนุมัติอนุญาตแบบดิจิทัล เพื่อให้การดำเนินการมีความโปร่งใสมากขึ้น
          (3) การตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับที่ 2) เพื่อให้การบริการภาครัฐและการประสานราชการต้องผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง

         นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “ขับเคลื่อนบริการภาครัฐด้วย EEC-OSS” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร นางปนัดดา เย็นตระกูล ผู้อำนวยการกองอนุญาตผู้ประกอบการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนางไอรดา เหลืองวิไล รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

         นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวถึงการดำเนินงานของสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ต้องการปฏิรูปการให้บริการภาครัฐ ซึ่งมีหลักสำคัญในการดำเนินการคือ “Good Governance for Better Life” เพื่อตอบสนองการใช้บริการของประชาชน ซึ่งต้องเกิดขึ้นจากองค์ประกอบหลายส่วน อาทิเช่น การวางระบบ Infrastructure การเชื่อมโยง Big Data เพื่อให้การบริหารจัดการและการดำเนินการของภาครัฐในอนาคตได้ การพัฒนาระบบ Citizen Info ที่จะปักหมุดจุดให้บริการภาครัฐ การพัฒนาระบบ NDID เพื่อยืนยันตัวตนผ่านระบบดิจิทัล การพัฒนาระบบ e-Payment การพัฒนามาตรฐานระบบ e-Document เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงร่วมกันในทุกเอกสารกระดาษที่ออกโดยภาครัฐ รวมถึงการผลักดันนโยบาย No Copy ด้วยระบบการให้บริการแบบดิจิทัล เพื่อยกเลิกสำเนาเอกสารราชการ เป็นต้น

         สำหรับระบบ Biz Portal ซึ่งเป็นหนึ่งในการพัฒนาแนวทางการให้บริการของภาครัฐและทิศทางการพัฒนาการให้บริการแบบดิจิทัล ที่ทางสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ในการพัฒนาระบบและเป็นต้นแบบของ EEC-OSS นั้น จะเป็นระบบการขออนุมัติอนุญาตการประกอบธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ใน 25 ประเภทธุรกิจ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาระบบ Biz Portal ด้วย ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2562 จะเปิดให้บริการกว่า 70 ใบอนุญาต และขยายพื้นที่ให้บริการไปทั่วประเทศ

         นางไอรดา เหลืองวิไล รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า ระบบการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ Biz Portal ถือเป็น One Stop Service Platform ที่สำคัญของประเทศไทย โดยเป็น Digital Platform ที่มีความปลอดภัยสูง และสามารถมั่นใจในการใช้งานได้ เนื่องจาก (1) มีแนวคิดในการออกแบบและพัฒนา โดยอิงตามพระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่การยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้งานระบบ และผลักดันให้เกิด Digital ID ในการยืนยันตัวตนด้วยการเก็บ log ทุกขั้นตอน สามารถตรวจสอบการดำเนินการผ่านระบบได้ และจะมีการทดสอบและตรวจสอบทุกขั้นตอนเพื่อป้องกันการ Hack และการดึงข้อมูลกลับหลังการ Hack (2) พัฒนาบนระบบ G-Cloud ซึ่งได้รับการรับรอง ISO27001 อันเป็นมาตรฐานสากลสำหรับระบบการจัดการความปลอดภัยของข้อมูล (3) การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐผ่าน Government Data Exchange Center (GDX) ซึ่งได้รับมาตรฐานสากล และ (4) การบริหารจัดการระบบ มีทีม Contact center และผู้ดูแลระบบ จากสิ่งที่กล่าวมานี้ ทำให้มั่นใจในระบบได้ว่ามีความปลอดภัย น่าเชื่อถือมาก และมีเสถียรภาพสูง

         นางปนัดดา เย็นตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายบริการผู้ประกอบ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ. มี 57 แห่ง อยู่ใน 16 จังหวัด ใน 3 จังหวัด EEC มี 31 แห่ง เป็นสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด กนอ. ได้พัฒนาระบบอนุมัติ-อนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-PP: e-Permission & Privilege) ตั้งแต่ปี 2548 จนเมื่อปี 2558 ได้มีการพัฒนาปรับเข้าสู่ Digital Platform ตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอก เช่น กรมการกงสุล ผ่าน G-Cloud สามารถ ติดตามสถานะ (tracking) ได้ และอยู่ระหว่างการพัฒนา e-Signature ซึ่งจะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้งานทั้งผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ จากเดิมที่ต้องพิมพ์ใบอนุญาตเป็นกระดาษ ให้สามารถสร้างแบบฟอร์มและใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งนี้ กนอ. จะมีการบูรณาการระบบ e-PP กับระบบ EEC-OSS ต่อไปเพราะในนิคมอุตสาหกรรมจะมีนิคมอุตสาหกรรมที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรมประมาณ 21 แห่ง เพื่อให้สามารถยื่นคำขอผ่านระบบ ECC-OSS ตามระเบียบที่วางไว้ได้

         นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร กล่าวว่า ในฐานะของภาคเอกชน จากที่ได้ฟังข้อมูลระบบ EEC-OSS ที่มีการพัฒนาระบบโดยการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐแบบครบวงจร และมีการดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกฉบับเดียวกัน ทำให้มีความเชื่อถือได้ว่า จะสามารถจูงใจให้ผู้ประกอบการมาใช้งานระบบได้ แต่การจะลงทุนในพื้นที่ก็ต้องดูองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย รวมถึงการดำเนินการเชิญชวน เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ให้มีการเข้าใช้งานระบบมากขึ้น ตลอดจนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการเพื่อปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถทำให้มีผู้เข้ามาใช้งาน EEC-OSS มากขึ้น และจะเป็นการเพิ่มจำนวนของผู้ลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย


กลุ่มงานเลขานุการ ก.พ.ร. และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ