การประชุมหารือ แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย ระหว่างสำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ท.

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางสาวสุรุ่งลักษณ์ เมฆะอำนวยชัย) เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้หารือประเด็นสำคัญที่สามารถยกระดับดัชนี CPI ดังนี้

         1. พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565

             แจ้งเตือนหน่วยงานของรัฐทราบถึงหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ รวมทั้งติดตาม เร่งรัด ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามกฎหมายกำหนด โดยแจ้งให้หน่วยงานทราบถึงแนวทางปฏิบัติ และสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานของรัฐผ่านการจัดคลินิกให้คำปรึกษาเป็นประจำทุกเดือน

         2. ระบบ Biz Portal และ Citizen Portal

             * Biz Portal ให้บริการกับผู้ประกอบการที่เป็นประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล โดยสามารถทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้แบบครบวงจร ด้านการออกหนังสือรับรอง ใบอนุญาต และเอกสารต่าง ๆ แต่ยังไม่สามารถให้บริการกับนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ ได้มีการหารือกับ สพร. ซึ่งจะอยู่ในแนวทางของ สพร. ที่จะดำเนินการ ในส่วนของ portal นั้น สพร. อยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
             * Citizen Portal ดำเนินการในส่วนของการศึกษาและการออกแบบ เมื่อได้ผลการศึกษาจะส่งต่อไปยัง สพร. เพื่อให้ สพร. ดูความพร้อมของหน่วยงาน ให้การพัฒนางานบริการขึ้นบน Application ทางรัฐ

         3. พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต ของทางราชการ พ.ศ. 2558

             ผลสำเร็จของการดำเนินการ คือ ลดระยะเวลางานบริการภาครัฐ จดแจ้งในรูปออนไลน์ได้ ไม่ต้องเดินทางมายังหน่วยงาน
สำหรับการปรับปรุง พรบ.การอำนวยความสะดวกฯ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการ เช่น ปรับเปลี่ยนการอนุญาติเป็นจดแจ้ง Super License การอนุญาตโดยปริยาย จัดให้มีช่องทางพิเศษแบบเร่งด่วน (Fast track) เป็นต้น ซึ่งเป็นการปรับปรุง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 และสื่อสารสร้างความเข้าใจกับหน่วยงาน โดยจัด roadshow 4 ภาค

         4. การดำเนินการเพื่อสมัครเข้าเป็นภาคีสมาชิกความร่วมมือการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (OGP)

             ผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเข้าร่วมการเป็นสมาชิก OGP โดยเฉพาะผลักดันการดำเนินการเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ประเมินด้าน Values Check (การยอมให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม และการต่อต้านภาคประชาสังคม) ซึ่งประเมินโดย Varieties of Democracy (V-Dem) โดยวัดจากผู้เชี่ยวชาญในการตอบแบบสอบถามของแต่ละประเทศ

         5. การดำเนินการโครงการสร้างการรับรู้และความตระหนักในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการบริหารงานภาครัฐ

             ดำเนินการจัดทำสื่อเพื่อสร้างการรับรู้ เข้าใจ และทัศนคติของประชาชน เกี่ยวกับการบริหารงานภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ เปิดเผย โปร่งใส และตอบสนองประชาชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการแลกเปลี่ยนการพัฒนาระบบราชการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการประมาณ ร้อยละ 50 - 60

         ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ชี้แจงความก้าวหน้าในการดำเนินการต่าง ๆ พร้อมทั้งตอบข้อซักถามในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ต่อผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจและใช้ประกอบการดำเนินงานตามบทบาท หน้าที่ ของแต่ละหน่วยงานต่อไป