การประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 1/2566

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันจันทร์ที่ 16 มกราคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 1/2566 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ประธาน อ.ก.พ.ร.ฯ เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาและรับทราบเรื่องตามระเบียบวาระที่นำเสนอ ดังนี้

         1. พิจารณาวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐาน ซึ่งเป็นระดับที่หน่วยงานส่วนใหญ่มีความพร้อมสามารถปฏิบัติได้ โดยฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปจากมาตรฐานแนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัลที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) จัดทำขึ้น โดยเป็นคู่มือแนวปฏิบัติวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงานภายหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ในขณะที่วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ระดับสูง สพร. จะจัดทำเพิ่มเติมเป็นวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระยะต่อไป สำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐาน จะประกอบด้วย กระบวนการและเครื่องมือที่ใช้ในแต่ละระดับ พร้อมทั้งขั้นตอนการเตรียมความพร้อมหรือการจัดทำ การนำไปปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อแนะนำ/ข้อพึงระวัง ของแต่ละเครื่องมือ ทั้งนี้ อ.ก.พ.ร.ฯ ได้พิจารณาถึงประเด็นเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ จำนวน 2 ประเด็น ได้แก่ (1) การเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐลงทะเบียนไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานให้ครบถ้วน โดยเฉพาะราชการบริหารส่วนท้องถิ่น และ (2) การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐนำงานบริการมาให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง (Biz Portal และ Citizen Portal) ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ระดับสูง ในระยะต่อไป ซึ่ง อ.ก.พ.ร.ฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า

             1.1 เห็นด้วยกับการเสนอวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระยะแรกสำหรับระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐานก่อน เนื่องจากเป็นระดับที่หน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่มีความพร้อมเพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้กับหน่วยงานโดยเร็ว ภายหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ทุกมาตรา ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยการกำหนดวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระยะแรก จะต้องมีคู่มือ มาตรฐาน และแนวปฏิบัติ ที่ชัดเจน แต่หากหน่วยงานใดมีความพร้อมในระดับสูง ก็สามารถดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบหรือวิธีการที่หน่วยงานปฏิบัติตามปกติ โดยไม่จำเป็นต้องลดระดับตามเครื่องมือที่แนะนำในการปฏิบัติในระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐาน
             1.2 การสื่อสารเพื่อสร้างความพร้อมและความเข้าใจให้กับหน่วยงาน จะต้องดำเนินการเป็นระยะ และกำหนดวิธีการสื่อสารให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความปลอดภัยทางเทคโนโลยีเพื่อลดความเสี่ยงของการล่อลวงและการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย

         2. รับทราบการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่

             2.1 คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ซึ่งประกอบไปด้วย หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) และสำนักงาน ก.ล.ต.) และผู้แทนจากภาคเอกชน ซึ่งคณะทำงานฯ ได้มีการประชุมไปแล้ว จำนวน 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ในการพิจารณาวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามรายละเอียดที่เสนอในวาระเพื่อพิจารณา
             2.2 ความก้าวหน้าการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ที่เป็นหน่วยงานตามมาตรา 22 ในการแจ้งหน่วยงานของรัฐทราบถึงแนวทางปฏิบัติ การเตรียมความพร้อมของหน่วยงานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายทุก 15 วัน ซึ่งขณะนี้ได้แจ้งหน่วยงานไปแล้ว จำนวน 6 ครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2565 รวมถึงการส่งเสริม สร้างความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ ด้วยการจัดการจัดคลินิกให้คำปรึกษาการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ และการสร้างการรับรู้แก่หน่วยงานของรัฐผ่านกิจกรรมเวทีสัญจร 4 ภาค
             2.3 ความก้าวหน้างานบริการ 12 Agenda ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ประสานให้หน่วยงานเจ้าภาพหลักที่รับผิดชอบในแต่ละงานบริการ Agenda และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) และแผนปฏิบัติการ (Action plan) ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยให้หน่วยงานเจ้าภาพรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินการในภาพรวมของงานบริการเป็นประจำทุก 2 เดือน ภายในวันที่ ๑๕ ของเดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2566 จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2566 เพื่อเป็นการติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามที่เป้าหมายกำหนด ทั้งนี้ สำหรับความก้าวหน้าใน Agenda เรื่อง DOPA Digital ID นั้น ผู้แทนกรมการปกครอง (นายสัญชัย เตชนิมิตวัช) ได้แจ้งเพิ่มเติมว่า กรมการปกครองจะเปิดระบบให้ประชาชนสามารถให้ยืนยันตัวตนด้วยตนเองผ่านมือถือได้ (Self-enrollment) โดยไม่ต้องไปที่อำเภอหรือสำนักงานเขตแล้ว ซึ่งกำหนดเปิดใช้งานระบบดังกล่าวนี้ในวันที่ 20 มกราคม 2566 ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบพิสูจน์ และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service FVS) ด้วย