การตรวจติดตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ และ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ในจังหวัดขอนแก่น

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. นำโดยรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) และคณะ ลงพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่นเพื่อติดตามและสำรวจความพร้อมในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ในหน่วยงานส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีความพร้อมในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ อาทิ การเผยแพร่คู่มือผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน การให้บริการแบบ e-service การไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้โดยการเชื่อมกับกรมการปกครอง การกำหนดและประกาศช่องอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการ มีที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และมีประเด็นอื่นที่น่าสนใจจากการลงพื้นที่ดังนี้??

         1. การดำเนินการของราชการบริหารส่วนภูมิภาค

             - สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น มีระบบให้บริการแบบ Fully digital ได้แก่ งานขออนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานตามกฎหมายโรงงาน ตั้งแต่การยื่นคำขอผ่านระบบ การพิจารณาตามขั้นตอน การชำระค่าธรรมเนียม และการออกใบอนุญาตที่สามารถพิมพ์ออกมาไว้เป็นหลักฐานได้ ซึ่งการรับชำระค่าธรรมเนียมของหน่วยงานเป็นแบบไร้เงินสด นอกจากนี้มีระบบการควบคุมและแจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงเวลากำหนดพิจารณาแล้วเสร็จ
             - สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น มีการใช้ระบบกลางของกรมที่ดิน e-Qlands LandsMaps รวมถึงมีนวัตกรรมการให้บริการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เฉพาะของหน่วยงาน อาทิ แบ่งแยกทันใจ (จดทะเบียนรับโฉนดหลังรังวัด) ออกโฉนดทันใจ (นัดหมายกำหนดคิวรังวัด) ควบคุมให้เป็นตามกระบวนการ (ติดตามสถานะได้) เบิกจ่ายแบบพิมพ์ออนไลน์ (ทราบผู้เบิกจ่าย เพื่อป้องกันการทุจริต) นอกจากนี้มีการรับชำระค่าธรรมเนียมแบบไร้เงินสด และระบบติดตามการทำงานเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการแก่ประชาชน

         ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ

            • แม้ว่ามีการให้บริการตามนโยบายของหน่วยงานส่วนกลาง แต่อาจต้องมีการทบทวนและปรับปรุงขั้นตอนและระยะเวลาการให้บริการคู่มือสำหรับประชาชน เพื่อให้เป็นมาตรฐานการบริการแก่ประชาชน
            • กรณีที่มีขั้นตอนการพิจารณาเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ทำให้เกิดความล่าช้าได้ ซึ่งส่งผลให้ต้องแจ้งเหตุแห่งความล่าช้าทุก 7 วัน จึงควรร่วมหารือเพื่อหาข้อยุติสำหรับกำหนดระยะเวลาให้บริการที่ชัดเจน
            • ติดข้อกฎหมายในบางงานบริการทำให้ไม่สามารถลดระยะเวลาได้หรือให้บริการได้อย่างรวดเร็ว หรือบางงานบริการต้องถามความเห็นหน่วยงานอื่นด้วย

         2. การดำเนินการของหน่วยงานระดับท้องถิ่น

             - เทศบาลนครขอนแก่น มีความพร้อมด้านดิจิทัลในระบบ front office และ back office โดยมีการให้บริการผ่านระบบ e-service อาทิ โครงการให้บริการประชาชนสู่ความพึงพอใจอันสูงสุดด้วยเทคโนโลยี เช่น Line BOT ที่เป็นช่องที่ใช้มากที่สุด การให้บริการยื่นแบบขออนุญาตตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ผ่าน san-kkmuni.com ซึ่งสามารถติดตามสถานะได้ และระบบร้องทุกข์ U-PHEE (อยู่พี่) ผ่าน Line Official ซึ่งมีงานบริการที่สอดคล้องกับ Smart City ทำให้มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก
             - องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระ มีการลงพื้นที่เพื่อให้บริการกับเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุหรือไม่สะดวกเดินทางมาที่สำนักงาน และมีให้บริการแบบ e-service ผ่านเว็บไซต์ 4 เรื่อง ได้แก่ การขอรับความช่วยเหลือ การร้องเรียน การแนะนำหรือให้ความเห็น และบริการขึ้นทะเบียนรับเบี้ยยังชีพ โดยเข้าบัญชีโดยตรงของผู้มีสิทธิทุกราย

         ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ

            • แม้ว่ามีการบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ประชาชนยังคงมารับบริการที่สำนักงานอยู่ เนื่องจากความสะดวก ความคุ้นเคย หรือต้องการสอบถามเจ้าหน้าที่โดยตรง อปท.จึงเพิ่มการบริการเชิงรุกคือการออกให้บริการในพื้นที่