การประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การพิจารณาและแนวทางการสมัครรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การพิจารณา|และแนวทางการสมัครรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 ณ ห้องประชุม Mayfair Ballroom A - B ชั้น 11 โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่มีความประสงค์จะสมัครขอรับรางวัล โดยมีนางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวเปิดการประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานต่างๆ ประมาณ 180 คน และผ่านออนไลน์ ประมาณ 2,500 คน

         นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวถึงรางวัลเลิศรัฐว่า “เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล โดยเฉพาะในแง่ประสิทธิภาพประสิทธิผล การทำงานแบบมีส่วนร่วมและการสร้างความโปร่งใส ซึ่ง รางวัลเลิศรัฐช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคลากรภาครัฐในการขับเคลื่อนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีให้แก่ราชการ แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด หรือสถานการณ์ใด ๆ ก็ตาม ก็ไม่เป็นอุปสรรคที่ทำให้หน่วยงานหยุดคิดหยุดพัฒนา บางหน่วยงานกลับได้รับรางวัลอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่ามีระบบการปฏิบัติงานที่ดีและเข้มแข็งอย่างยิ่ง นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาได้มีการพิจารณารางวัลเกียรติยศ (Super เลิศรัฐ) ให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีความเพียรพยายาม มุ่งมั่นพัฒนาบริการประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเป็นต้นแบบที่สร้างคุณค่า และมีความยั่งยืน ซึ่งมีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลนี้ จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมควบคุมโรค และกรมสรรพากร ถือเป็นต้นแบบของหน่วยงานที่นำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนองค์กรอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือการยกระดับไปสู่สากล ประเทศไทยได้รับรางวัล UNPSA เป็นประจำทุกปี เช่น ในปี 2022 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในสาขา Fostering innovation to deliver inclusive and equitable services จากผลงานเรื่อง Koh Libong Community: Digital Transformation for Smart Environment

         นอกจากนี้ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ได้กำหนดการทำงานภาครัฐ ต้องตอบโจทย์ประชาชนและปรับเปลี่ยนการทำงานอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญคือการนำ Digital มาปรับกระบวนการทำงาน เช่น ระบบ e-Service มาใช้ และการให้ภาครัฐสร้างมีส่วนร่วมของประชาชนและภาครัฐแบบเปิด โดยเปิดโอกาสให้เครือข่ายต่าง ๆ ให้เข้ามามีบทบาทมาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจกับภาครัฐอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง

         ปีนี้เราได้เพิ่มรางวัลใหม่ 2 ประเภทรางวัลได้แก่ รางวัลบริการภาครัฐ ประเภทตอบโจทย์ ตรงใจ และรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภท ประสิทธิผลเครือข่าย วันนี้ได้มีเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเชิญหน่วยงานที่จะมาสร้างแรงบันดาลใจให้ตอบโจทย์และสร้างความไว้วางให้กับประชาชน ทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาที่มากขึ้น

         ต่อจากนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สู่การยกระดับที่เป็นเลิศ” หัวข้อ ยกระดับดิจิทัลชุมชน ก้าวไกลไป UN โดย นายวาฤทธิ์ ศิริพิทยาโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้กล่าวถึง ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการส่งรางวัล United Nations Public Service Awards ว่าต้องเลือกผลงานที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชน รวมถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และพะยูนได้รับการคุ้มครอง โดยการขับเคลื่อนโครงการด้านดิจิทัลไปสู่การพัฒนาชุมชน สิ่งสำคัญในการได้รับรางวัลคือการให้มีการติดตามประเมินผลโครงการอย่างต่อเนื่อง จัดทำรายละเอียดข้อมูลให้ชัดเจน รวมถึงมีการเก็บข้อมูลเชิงสถิติที่ชัดเจน ซึ่งปัจจัยความสำเร็จต้องบูรณาการความต้องการของประชาชนกับงานอื่น ๆ โดยให้ชุมชน เป็นเป้าหมายที่สำคัญ

         ในหัวข้อ ถอดรหัสความสำเร็จสู่การเป็นองค์การอัจฉริยะทางดิน โดย นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้กล่าวถึงทิศทางการขับเคลื่อนแผนปฎิบัตราชการของกรมพัฒนาที่ดิน โดยมีการสร้างกลไกการมีส่วนร่วม ยกระดับการพัฒนาองค์ความรู้ด้วยเทคโนโลยี เช่น สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาบุคคลากรมืออาชีพให้ความรู้กับหมอดินอาสา เพื่อนำองค์ความรู้ไปเผยแพร่การวางแผนการใช้ที่ดิน ทำให้เกิดความสำเร็จขยายผลเป็นต้นแบบการสำเร็จ ให้กับประเทศสมาชิกของ FAO นำรูปแบบความสำเร็จไปใช้ให้เกิดการเชื่อมโยงบริการ ในการพัฒนาองค์กรการทำงานทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ผ่านแพลตฟอร์มขยายเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึง การปรับเป็นองค์กรดิจิทัล โดยพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรด้วยเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินได้อย่างเหมาะสมด้วยระบบบริหารจัดการเชิงรุก

         และในหัวข้อ เคล็ดลับความสำเร็จสู่การเป็นองค์การ 4.0 โดย นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้กล่าวถึงความสำเร็จสู่การเป็นองค์การ 4.0 ที่มีสมรรถนะสูง ด้วยการพัฒนา Digital Service พร้อมพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคแบบบูรณาการ ทั้งการจัดการผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายแบบบูรณาการ สร้างความมั่นคงด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งยกระดับบริการตอบสนองความต้องการของประชาชน ในการเข้าถึงยาของประชาชน พัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนชุมชนสุขภาพดี และสร้างความสามารในการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยมีปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนาองค์กร ได้แก่ ความมุ่งมั่นตั้งใจ มีนโยบายของผู้บริหารที่ชัดเจน พัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญของบุคลากร สร้างความร่วมมือของเครือข่ายที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ และพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย

         จากนั้น นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวถึงภาพรวมการสมัครรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2566 โดย ได้กล่าวถึง รางวัลเลิศรัฐทั้ง 3 สาขา การเพิ่มประเภทรางวัลใหม่ของสาขารางวัลบริการภาครัฐ ได้แก่ บริการตอบโจทย์ตรงใจ โดยสามารถตอบ Pain point ของภาคเอกชน เน้นการพัฒนาบริการ การทำงาน แก้ปัญหา เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ เป็นต้น และรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม มีประเภทใหม่ คือ ประเภทประสิทธิผลเครือข่าย ดึงกระบวนการความร่วมมือมีเครือข่ายใดบ้างที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันดำเนินการ เป็นต้น

         หลังจากนั้นได้นำเสนอตัวอย่างผลงานโดดเด่นของแต่ละสาขารางวัล และในตอนท้ายได้เสนอปัจจัยความสำเร็จของผลงานที่ได้รับรางวัล ซึ่งประกอบด้วยความโดดเด่น นำเทคโนโลยีมาใช้ มี Big Impacts สร้างผลลัพธ์เชิงบวก ผสานความร่วมมือ มีผลลัพธ์เชิงประจักษ์ เป็นต้นแบบขยายผล และมีความสอดคล้อง SDGs

         นางสาวรานี อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการกอง 3 สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ชี้แจงหลักเกณฑ์การพิจารณรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของรางวัลประเภทร่วมใจแก้จน และเงื่อนไขการสมัคร โดยมุ่งเน้น 2 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 ตัวชี้วัดกลุ่มปัจจัยนำเข้า และกระบวนการ (Inputs and Process Indicators) มิติที่ 2 ตัวชี้วัดผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ (Output, Outcome and Impact Indicators) ทั้งนี้จะมีการจัดคลินิกรางวัลฯ ประเภทร่วมใจแก้จนประมาณกลางเดือนธันวาคม 2565

         สำหรับในช่วงบ่าย เป็นการจัดคลินิกรางวัลเลิศรัฐ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ในหัวข้อ “แนวทางการกำหนดตัววัดสำคัญสะท้อนความสำเร็จการเป็นระบบราชการ 4.0” โดย รศ. รัชต์วรรณ กาญจนปัญญาคม ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขาบริการภาครัฐ หัวข้อ“ถอดกลยุทธ์ เจาะลึกรางวัลบริการภาครัฐ”
โดย ดร.ภาวนา กิตติวิมลชัย ผู้ทรงคุณวุฒิ และสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ในหัวข้อ“เทคนิคพิชิตรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม”โดย นายนีรนาท นักดนตรี ผู้ทรงคุณวุฒิ

         ทั้งนี้ หน่วยงานที่สนใจสามารถสมัครรางวัล ในวันที่ 20 ธันวาคม 2565 – 14 กุมภาพันธ์ 2566 โดยสมัครผ่านระบบออนไลน์ที่ https://awards.opdc.go.th/awardsregister/ และสามารถรับชมการชี้แจงฯ ย้อนหลังได้ที่ Youtube และ Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.