การประชุม อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ครั้งที่ 7/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 เวลา 13.30 น. อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ได้มีการประชุมครั้งที่ 7/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยนายไมตรี อินทุสุต เป็นประธาน สรุปการประชุมที่สำคัญ ดังนี้

         1. พิจารณาเรื่อง (ร่าง) ข้อเสนอแนวทางการจัดทำปฏิทินการทำงานเพื่อให้มีการบูรณาการแผนและงบประมาณของราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ โดยที่ประชุมเห็นชอบผลการศึกษาของคณะทำงานฯ โดยให้เริ่มต้นกระบวนการจัดทำแผนฯ เดือนพฤษภาคม 2568 ซึ่งจะสอดคล้องกับการดำเนินงานของท้องถิ่น ทั้งนี้ เห็นควรมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ ก.พ.ร. เพื่อรับทราบในประเด็นดังกล่าวต่อไป พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ส่งข้อเสนอฯ ให้ส่วนราชการที่เป็นฝ่ายเลขานุการ ก.น.บ. ได้แก่ สศช. มท. และ สงป. เพื่อนำไปกำหนดแนวทางปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. .... สำหรับการจัดทำแผนของจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป

         2. พิจารณาเรื่อง สรุปผลขับเคลื่อนจังหวัดผลสัมฤทธิ์สูงตามข้อเสนอ 11 ประเด็น (ตามแผนการปฏิรูปประเทศฯ ฉบับเดิม ปี 2563) โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับสรุปผลการขับเคลื่อนจังหวัดผลสัมฤทธิ์สูงตามข้อเสนอ 11 ประเด็น และมีความเห็นเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนควรจัดกลุ่มว่าประเด็นใดควรผลักดันและดำเนินการต่อ ประเด็นใดควรยุติ หรือประเด็นใดควรมอบหมายให้หน่วยงานอื่นมาดำเนินการ

         3. รับทราบความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่เป็น การขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างสำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งสิ้น 75 ประเด็น

         4. รับทราบแนวทางการจัดสัมมนาเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการของ ก.พ.ร. และ อ.ก.พ.ร. เพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการในระยะต่อไป และความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เช่น การพัฒนาจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูง (HPP) ครบทั้ง 76 จังหวัด และการขับเคลื่อนในเรื่องระบบการบริหารงานบุคคลโดยกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น รวมถึงเป้าหมายการดำเนินการในปี พ.ศ. 2566 ของ อ.ก.พ.ร.ฯ ซึ่งจะมุ่งเน้นเกี่ยวกับเรื่องพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 เพื่อแก้ไขข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของจังหวัด และส่งเสริมการขับเคลื่อนรูปแบบการทำงานแบบบูรณาการเชิงพื้นที่