การประชุมหารือร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เรื่องการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางในการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) ระดับท้องถิ่น

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารงานภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) ประชุมหารือร่วมกับรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (นายธนิศร์ วงศ์ปิยะสถิตย์) ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (นายสุรพล เจริญภูมิ) อนุกรรมการฯ (นางสาวธีรดา ศุภะพงษ์) หัวหน้าโครงการ UNDP Accelerator Labs จาก UNDP ประเทศไทย (นางสาวอภิญญา สิระนาท) รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น อาคาร กบท. ชั้น 2 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

         ผลจากการประชุม สรุปได้ดังนี้

         1. สำนักงาน ก.พ.ร. และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในระดับท้องถิ่น โดยให้มีการปรับชื่อแพลตฟอร์มที่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเป็นสำคัญ

         2. แพลตฟอร์มนี้ มีเป้าหมายเพื่อรับฟังความเห็นและระดมความคิดเห็นของประชาชน เยาวชนคนรุ่นใหม่ ทั้งภายในพื้นที่และนอกพื้นที่ เพื่อการแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา

         3. ประโยชน์ของแพลตฟอร์ม คือ 1) ช่วยเสริมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในรูปแบบเดิม (onsite) ที่ประชาชนอาจติดภารกิจ หรือมีสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรค covid – 19 ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถประชุมร่วมกันได้ 2) ช่วยระดมความคิดเห็นจากทั้งจากคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้ได้แนวทางการแก้ไขปัญหาในรูปแบบใหม่ ในลักษณะการมองจากคนนอกพื้นที่ (outside – in) 3) ช่วยเจ้าหน้าที่ของรัฐในการสร้างข้อเสนอหรือโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ในลักษณะ Bottom - Up

         4. ข้อควรพึงระวัง คือ 1) ความต้องการของคนในพื้นที่และนอกพื้นที่อาจมีความแตกต่างกัน จึงควรบริหารจัดการความต้องการอย่างเหมาะสม 2) การดำเนินการเรื่องต่างๆ ควรพิจารณาอำนาจหน้าที่ของ อปท. และระเบียบแนวทางปฏิบัติของ มท./สถ. 3) แพลตฟอร์มควรสามารถยืนยันตัวตนผู้มาแสดงความคิดเห็นได้ ทั้งภายในพื้นที่และนอกพื้นที่ 4) ระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นและการจัดทำแผนของท้องถิ่นควรมีความสอดคล้องกัน 5) เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด ท้องถิ่นจึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ทุกเรื่อง 6) ควรมีการคัดกรองความเห็นที่แสดงบนแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นพื้นที่ในการเสนอความคิดเห็นและแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่มุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมืองหรือส่วนบุคคล

         5. ในกรณีที่ปัญหาอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของ อปท. ท้องถิ่นสามารถบูรณาการเชื่อมโยงแผนพัฒนาพื้นที่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาพื้นที่ในระดับอำเภอและตำบล พ.ศ. 2562 เพื่อเสนอเป็น ONE PLAN ได้

         NEXT STEP : สำนักงาน ก.พ.ร. UNDP แห่งประเทศไทย และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะร่วมมือกันปรับปรุงและพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อใช้ในการรับฟังความคิดเห็นและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ รวมถึงเพื่อเป็นเครื่องมือในการยกระดับภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ได้จริง สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และถูกต้องตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย