การประชุมเพื่อขับเคลื่อนการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทย

แชร์หน้านี้


         สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมเพื่อขับเคลื่อนการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานการประชุม ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แบ่งเป็น 2 วัน ได้แก่ การประชุมเรื่อง “การขับเคลื่อนการขับเคลื่อนการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจและการลงทุน ตามแนวทางการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน (Business Enabling Environment: BEE) ของธนาคารโลก” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 เวลา 13.00 น. โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐจำนวน 94 คน จาก 29 หน่วยงาน เข้าร่วมการประชุม และการประชุมเรื่อง “ผลสำรวจการปฏิรูปการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจและการลงทุน” เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 เวลา 13.30 น. โดยมีผู้แทนจากภาคเอกชนจำนวน 22 คน จาก 7 องค์กรภาคเอกชน เข้าร่วมการประชุม สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

         1. แนวทางการประเมิน BEE ของธนาคารโลก ซึ่งกรอบการประเมินของ BEE ในภาพรวมยังคงคล้ายกับ Doing Business โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะของวงจรการประกอบธุรกิจ ประกอบด้วย ระยะการเปิดกิจการ (Opening a Business) ระยะการดำเนินกิจการ (Operating a Business) และระยะการปิดกิจการ (Closing a Business) ซึ่งธนาคารโลกมีแผนที่จะประกาศรายละเอียดของการประเมิน BEE ในช่วงปลายปี 2565 เริ่มเก็บข้อมูลในช่วงต้นปี 2566 และคาดว่าจะประกาศผลปลายปี 2566

         2. ประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมตามแนวทางการประเมิน BEE

             สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ชี้แจงประเด็นสำคัญเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการตามแนวทางการประเมิน BEE ดังนี้

             2.1 อำนวยความสะดวกในการเริ่มต้นธุรกิจสำหรับชาวต่างชาติหรือบริษัทต่างชาติในการเริ่มต้นธุรกิจ
             2.2 เชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขออนุญาตก่อสร้างผ่านระบบ Online ให้ครบถ้วนทุกประเภทอาคาร
             2.3 ควบคุมคุณภาพการให้บริการ เพื่อให้แน่ใจว่าเกิดเสถียรภาพของการให้บริการสาธารณูปโภค
             2.4 ปรับปรุงกฎระเบียบด้านหลักประกันทางธุรกิจให้มีแนวปฏิบัติที่บูรณาการกัน และการบังคับใช้ในทุกประเภทของทรัพย์มีทะเบียน
             2.5 ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

         3. ผลสำรวจการปฏิรูปการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจจากภาคเอกชน โดยสถาบันอนาคตไทยศึกษา ดังนี้

             3.1 ความพึงพอใจต่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย พบว่าภาคเอกชนมีความพึงพอใจต่อด้านการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุด และมีความพึงพอใจต่อด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐน้อยที่สุด
             3.2 อุปสรรคด้านกฎระเบียบและการบริการภาครัฐในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย พบว่าด้านที่มีอุปสรรคมากที่สุด ได้แก่ ด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ส่วนด้านที่มีอุปสรรคน้อยที่สุด ได้แก่ ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ และเมื่อพิจารณาเรื่องที่เป็นอุปสรรคที่ภาครัฐควรปรับปรุง เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อลดความซ้ำซ้อน ความล่าช้าของระบบงาน การเก็บภาษีและการขอคืนภาษี การเป็น one stop service ความรู้ความเข้าใจของราชการกับการทำธุรกิจ การทุจริต การขอค่าอำนวยความสะดวก เป็นต้น
             3.3 ข้อเสนอแนะที่ได้จากการสัมภาษณ์ภาคเอกชน เช่น ภาครัฐควรปรับปรุงการทำงานให้มีความรวดเร็วและโปร่งใส ลดภาษีธุรกิจลงกว่าปัจจุบันให้มีความเหมาะสม เป็นต้น

         4. ประเด็นที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน มีดังนี้

             4.1 การนำ e-service มาใช้ได้จริงทั้งกระบวนการ มีการแสดงข้อมูลแบบทันที (Real-time) และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่
             4.2 การปรับปรุงกฎระเบียบ แก้ไขข้อจำกัดด้านกฎหมาย เพื่อลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ
             4.3 ด้านการค้าระหว่างประเทศ ได้รับข้อมูล ตัวอย่างปัญหา/อุปรรคที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข การพัฒนาระบบการทำธุรกิจแบบ B2B และ B2G ให้ไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งแนวทางปฏิบัติที่ดีของประเทศสิงคโปร์
             4.4 การให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ และการผลักดันให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างแท้จริง

         5. ทั้งนี้ แนวทางการขับเคลื่อนตามการประเมิน BEE สอดคล้องกับข้อเสนอ Ten for Thailand โดยเฉพาะในประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำของนักลงทุนต่างชาติ และการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม หากธนาคารโลกประกาศเกณฑ์การประเมิน BEE ที่ชัดเจนในช่วงปลายปี 2565 สำนักงาน ก.พ.ร. จะแจ้งแนวทางการดำเนินการให้ทุกหน่วยงานทราบต่อไป และข้อสรุปที่ได้จากการประชุม สำนักงาน ก.พ.ร. จะได้รวบรวมและสรุปเพื่อนำเรียนรองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ต่อไป รวมทั้งข้อเสนอแนะที่ได้จากภาคเอกชนจะนำไปใช้ในการพัฒนางานบริการภาครัฐและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย