การลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการบริหารจัดการมรสุมขยะในพื้นที่

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับเทศบาลเมืองแสนสุข นำโดยนายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในรายการฟังเสียงประเทศไทย กับหัวข้อ “เมืองแสนสุขกับการมีส่วนร่วมจัดการมรสุมขยะ” ณ ปะการังเรือนน้ำ บางแสน จังหวัดชลบุรี โดยมีตัวแทนประชาชนในพื้นที่เทศบาลเมืองแสนสุขจำนวน 40 คน จากภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ และภาคการศึกษา เป็นต้นมาร่วมรับฟังและโหวตหาทางออกเพื่อระดมความคิดเห็นและนำไปสู่การวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาขยะในพื้นที่ สามารถสรุปผลการรับฟังความเห็นได้ ดังนี้

         1. ปัญหาขยะมูลฝอยของเมืองแสนสุข มีสาเหตุดังนี้

             1) การเพิ่มขึ้นของประชากร และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
             2) การลักลอบทิ้งข้างทาง
             3) บ่อฝังกลบขยะเต็ม และอยู่นอกพื้นที่
             4) ระบบเก็บขนขยะมูลฝอยที่ยังไม่มีการคัดแยก
             5) การคัดแยกขยะในพื้นที่

         2. แนวทางการจัดการขยะในปัจจุบัน

             1) ต้นทาง - สร้างความรู้ ความเข้าใจ การลดปริมาณ การคัดแยกขยะ การสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้แก่ประชาชน ผู้ประกอบการ รณรงค์ การสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาพื้นที่สาธารณะ การสร้างกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก
การออกระเบียบ กฎเกณฑ์ ให้กับผู้ประกอบการชายหาด การติดตาม กำกับดูแล และการบังคับใช้กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
             2) กลางทาง - การจัดกำลังคน และเครื่องจักรในการทำความสะอาดชายหาด และการเก็บขนขยะ ไม่ให้ตกค้างในแต่ละวัน และการดูแลระบบระบายน้ำ ลอกท่อ ทำความสะอาด รวมถึงการติดตั้งทุนดักขยะที่ปลายท่อระบายน้ำเพื่อรวบรวมขยะ ก่อนปล่อยลงสู่ทะเล
             3) ปลายทาง - กำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาล การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการแสวงหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการแบบยั่งยืน

         3. ทางเลือกในการมีส่วนร่วมในการจัดการมรสุมขยะที่ได้นำเสนอให้แก่ประชาชน มีดังนี้

             1) รวมพลังจัดการขยะด้วยพลังภายในท้องถิ่น เทศบาลจัดการขยะเป็นหลักโดยใช้สรรพกำลังที่มีอยู่ ทั้งการดึงชุมชนและผู้ประกอบการให้ร่วมมือคัดแยกขยะจากต้นทางอย่างจริงจัง สำหรับขยะจากการท่องเที่ยว เทศบาลกำหนดแนวทางมาตรการจำกัดไม่ให้มีปริมาณขยะเกินศักยภาพในการจัดการ เพื่อคงการใช้งบประมาณที่มีจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ เงื่อนไขสำคัญคือชุมชน/อาสาสมัครต้องให้ความร่วมมือกับเทศบาล ออกแบบระบบการจัดการภายใต้งบหรือการลงทุนที่ไม่สูงมาก
             2) นวัตกรรมนำ เอกชนร่วมทุนแปรรูปเป็นสินค้า/พลังงาน เทศบาลเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน/รวมทุน หรือส่งเสริมชุมชน ให้สถาบันการศึกษา เอกชนในพื้นที่คิดค้นหรือนำนวัตกรรมการจัดการและแปรรูปขยะรูปแบบต่าง ๆ ให้เป็นรายได้และสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งนี้อาจจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งต้องใช้การลงทุนค่อนข้างสูงในช่วงต้น และจำเป็นต้องอาศัยการจัดการที่ดีเพื่อไม่ให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือการคัดค้านจากประชาชน
             3) ระบบใหม่ กลไกพิเศษจัดการต้นน้ำ-ปลายน้ำ เทศบาลจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และเชื่อมโยงการจัดการเชิงระบบกับท้องถิ่นอื่น โดยเฉพาะต้นทางแหล่งกำเนิดของขยะ ทั้งนี้เทศบาลและองค์กรภาคประชาชนต้องมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพ สื่อสาร ประสานงานให้เกิดการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลานาน

         4. สรุปผลจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

             - ประชาชนส่วนใหญ่ กว่าร้อยละ 70 มีความคิดเห็นว่าทางเลือกที่ 2 ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ภาคเอกชน นำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา โดยให้เทศบาลเป็นผู้ติตามประสิทธิภาพการทำงานให้เป็นไปตามที่ได้ตกลงไว้ ทั้งนี้ ประชาชนก็ให้ข้อสังเกตว่าความโปร่งใสในการดำเนินการตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น เช่น การเปิดเวทีประชาคมให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น และรับฟังอย่างจริงจัง รวมถึงกระบวนการคัดเลือกภาคเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการ จะต้องมีความโปร่งใสด้วย

             - เครื่องมือที่จะนำไปใช้ในการบริหารจัดการปัญหาขยะในพื้นที่ แบ่งออกเป็น 4 ประเด็นที่จะต้องดำเนินการควบคู่กัน คือ 1) เทคโนโลยี 2) พฤติกรรมทางสังคม 3) เศรษฐกิจ และ 4) กฎหมาย ทั้งนี้ได้มีการทาบทามให้นำร่องดำเนินการในพื้นที่มหาวิทยาลัยบูรพา เป็น Sandbox ก่อนจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

             - สำนักงาน ก.พ.ร. ได้แนะนำช่องทางการมีส่วนร่วม แฟลตฟอร์มเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองแสนสุข ภายใต้ชื่อ CONSUL ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมวันนี้ เข้าไปทดลองใช้ และส่งข้อมูลความคิดเห็นต่างๆ ส่งให้เทศบาลเมืองแสนสุขได้อีกด้วย