การประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 4/2565

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันพุธที่ 3 สิงหาคม 2565 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 4/2565 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาและรับทราบเรื่องตามระเบียบวาระที่นำเสนอ ดังนี้

         1. เห็นชอบข้อเสนอแนวทางการกำหนดแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 โดยเสนอให้ สพร. กำหนด Biz Portal และ Citizen Portal เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางเพิ่มเติม เพื่อให้หน่วยงานนำงานบริการมาให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์บนแพลตฟอร์ม โดยการดำเนินการดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงการเตรียมความพร้อมอย่างน้อย 3 เรื่อง ได้แก่ (1) ด้านเทคนิค ที่จะต้องมีแพลตฟอร์มย่อยรองรับการใช้งานในขั้นตอนต่าง ๆ สำหรับการทำธุรกรรม (2) ด้านกระบวนการและการบริหารจัดการ ที่ควรพิจารณาถึงงานบริการที่ควรพัฒนาบนแพลตฟอร์ม และการสื่อสารทำความเข้าใจกับหน่วยงานและประชาชน และ (3) การจัดทำ Roadmap และตัวชี้วัดที่เหมาะสม ที่กำหนดระยะเวลาการพัฒนาตามรูปแบบการพัฒนาที่สอดคล้องกับความพร้อมทางดิจิทัลของหน่วยงาน ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว ดังนี้

             1.1 กระบวนการต่าง ๆ ภายใต้แพลตฟอร์มดิจิทัลกลางควรพิจารณาถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจากบางเรื่องภาคเอกชนมีระบบดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การพิสูจน์และยืนยันตัวตน การชำระเงิน ซึ่งภาครัฐไม่จำเป็นต้องออกแบบระบบรองรับใหม่ทั้งหมด สำหรับการผลักดันให้เกิดการใช้งานในทางปฏิบัติ ควรกำหนดให้เกิดกระบวนการทำงานในรูปแบบดิจิทัล (Digital Process) แทนกระบวนการทำงานเดิมที่มีรูปแบบหรือวิธีการที่คุ้นเคย (Traditional Process) ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาสำหรับการปรับเปลี่ยนทางเทคนิคและทัศนคติต่อการใช้งานทางอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว จะทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องปรับตัวให้เกิดการติดต่อประสานงานระหว่างกัน และติดต่อสื่อสารกับประชาชน ทางอิเล็กทรอนิกส์
             1.2 การผลักดันงานบริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางในระยะแรกอาจเริ่มต้นจากงานบริการที่มีผลกระทบสูงกับประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องมีงานบริการจำนวนมาก แต่ควรเป็นงานที่เกิดผลลัพธ์หรือตอบโจทย์ให้กับประชาชน สำหรับการเข้ารับบริการของประชาชนไปยังแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางควรมีช่องทางที่หลากหลายตามความพร้อมทางดิจิทัลที่แตกต่างกัน และมีความยุ่งยากไม่มากนัก เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกและเกิดความคุ้นเคยในการรับบริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
             1.3 งานบริการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นงานบริการหนึ่งที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการเป็นจำนวนมาก และมีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง จึงสามารถผลักดันนำร่องงานบริการฯ ที่สามารถชำระภาษีที่ดินออนไลน์ได้ทั่วประเทศ (ปัจจุบันกรมที่ดินร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริการได้ใน 3 พื้นที่) มาพัฒนาให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง โดยในเบื้องต้นจะเริ่มจากการเชิญชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มาร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อออกแบบ Conceptional Design ร่วมกัน เพื่อให้ทราบปัญหาอุปสรรค และร่วมกันกำหนดทิศทางและเป้าหมายที่ตรงกัน สามารถนำไปพัฒนาในรายละเอียดได้ต่อไป

         ทั้งนี้ สพร. เห็นด้วยกับการประกาศกำหนดให้ Biz Portal และ Citizen Portal เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางเพิ่มเติม โดยฝ่ายเลขานุการฯ จะได้นำผลการพิจารณาและความเห็นของ อ.ก.พ.ร.ฯ แจ้งให้กับ สพร. เพื่อพิจารณาประกอบการประกาศกำหนดฯ ต่อไป

         2. รับทราบการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่

             2.1 ความก้าวหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 รวมทั้งความก้าวหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับแนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัลภาครัฐ ที่ สพร. ได้จัดทำประชุมทำประชาพิจารณ์เพิ่มเติมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ จากการรับฟังความเห็น พบว่า หน่วยงานส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติและการบังคับใช้ ความสอดคล้องกับกฎหมายเดิมที่มีอยู่หรือกฎหมายใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคต เป็นต้น

             2.2 การถอดบทเรียนการดำเนินการของส่วนราชการและจังหวัดในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2564 ซึ่งมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล เช่น การกำหนดให้ Biz Portal และ Citizen Portal เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางตามกฎหมาย การทบทวนกฎหมายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนทางดิจิทัล การพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่บุคลากรภาครัฐทุกประเภท

             2.3 การขยายผล e-Service ไปยังอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะเน้นงานบริการที่เป็นภารกิจของ อปท. เป็นหลัก ขณะที่งานบริการ e-Service ของส่วนราชการอื่น อปท. จะคัดเลือกงานบริการที่ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน และสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินการระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน 2565

             2.4 ผลการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลที่ได้ดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2565 ซึ่งประกอบด้วยภาพรวม 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การขับเคลื่อนการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระของประชาชน (2) การส่งเสริมและพัฒนาระบบต้นแบบ/แพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง เพื่อให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐรวมถึงส่งเสริมการปรับกระบวนงานให้สอดคล้องกับการให้บริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ (3) การส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ (e-Service) ที่สำคัญ รวมทั้งการขับเคลื่อนการรับ-ส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบดิจิทัล ระหว่างหน่วยงานภาครัฐให้เกิดประสิทธิผล (4) การปลดล็อกปัญหาอุปสรรคในการให้บริการ เพื่อให้เกิดกระบวนการให้บริการดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จและครบวงจร ทั้งนี้ สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 อ.ก.พ.ร.ฯ จะได้พิจารณารายละเอียดในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการสัมมนา ก.พ.ร. และ อ.ก.พ.ร. คณะต่าง ๆ ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ต่อไป