การประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาทางดิจิทัลตามงานบริการ Agenda สำคัญ ครั้งที่ 3/2565

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาทางดิจิทัลตามงานบริการ Agenda สำคัญ ครั้งที่ 3/2565 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธาน พร้อมด้วยนายสมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ นางสาววิริยา เนตรน้อย ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นคณะทำงาน ที่ประชุมได้พิจารณาและหารือตามวาระต่าง ๆ ดังนี้

         1. พิจารณา (ร่าง) แนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัลภาครัฐ ซึ่งสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้จัดทำขึ้นเป็นวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 19 แห่งร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ประกอบด้วย 8 กระบวนการ ได้แก่ (1) การสืบค้นข้อมูล (2) การพิสูจน์และยืนยันตัวตน (3) การจัดทำแบบคำขอ และยื่นคำขอ (4) ตรวจสอบและพิจารณาคำขอ (5) การอนุมัติ (6) การชำระค่าธรรมเนียม (7) การออกใบอนุญาตและเอกสารอื่น และ (8) การจัดส่งใบอนุญาตและเอกสารอื่น โดยมีแนวปฏิบัติให้หน่วยงานพิจารณาดำเนินการได้ตามความพร้อมทางดิจิทัลของแต่ละหน่วยงาน ภายใต้ช่องทางและวิธีการที่มีความหลากหลาย แต่จะมีวิธีการที่กำหนดให้หน่วยงานต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่มีอยู่ เช่น ต้องจัดให้มีอีเมลของหน่วยงาน เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 หรือต้องประเมินความเสี่ยงในการกำหนดระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของงานบริการแต่ละชนิด เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) แนวปฏิบัติฯ ดังนี้

            1.1 การกำหนดแนวปฏิบัติจะต้องเป็นการกำหนดให้หน่วยงานดำเนินการโดยเคร่งครัด (ต้อง...) มากกว่าการกำหนดเป็นทางเลือกหรือความสมัครใจ (ควร...) และควรกำหนดขั้นตอนการดำเนินการเป็นลำดับขั้นเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐมีการพัฒนายกระดับการดำเนินการตามกระบวนการทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง และอาจกำหนดตัวชี้วัดความพึงพอใจของผู้รับบริการเพื่อประเมินว่าหน่วยงานจะต้องพัฒนากระบวนการทางดิจิทัลอีกมากน้อยอย่างไร

            1.2 การแนวปฏิบัติที่กำหนดขึ้นนี้ เป็นมุมมองในรูปแบบ Inside-out เพื่อให้หน่วยงานดำเนินการตามกฎหมายหรือมาตรฐานต่าง ๆ กล่าวคือ มองจากผู้ให้บริการ (หน่วยงานภาครัฐ) ไปยังผู้รับบริการ จึงควรต้องพิจารณาในมุมมองแบบ Outside-in ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีการศึกษา User Journey ว่าประชาชนมีประสบการณ์อย่างไร และมีข้อจำกัดหรือ pain point ที่ต้องการแก้ไขอย่างไรด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้จริง นอกจากนี้ ควรต้องกำหนดเป้าหมายของการดำเนินการให้ชัดเจน เช่น การยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ซึ่งอาจดำเนินการได้ในรูปแบบ Common Service

            1.3 การพิสูจน์และยืนยันตัวตนจะต้องพิจารณาตามความเสี่ยงของประเภทธุรกรรมเพื่อเป็น Guideline ว่าควรใช้ระดับการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (IAL/AAL) ในระดับใด นอกจากนี้ อาจจัดประเภทธุรกรรมเพื่อทำเป็น Service Directory เพื่อให้สามารถกำหนดระดับ IAL/AAL ได้ง่ายและมีมาตรฐาน

         2. ให้ความเห็นกับการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐต่อการบังคับใช้ของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป เช่น การขอเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่จะต้องให้ความยินยอมจากบุคคลหรือไม่นั้น จะต้องคำนึงถึงภารกิจและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่มาขอเชื่อมโยงข้อมูล และขอบเขตของข้อมูลที่ต้องการ

         ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ จะได้นำความเห็นที่ได้รับจากการประชุมคณะทำงานฯ ไปจัดทำเป็นข้อมูลประกอบการนำเสนอ อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ต่อไป