การประชุมหารือร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เรื่องการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) ระดับท้องถิ่น ผ่านแพลตฟอร์มกลาง

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (นายประยูร รัตนเสนีย์) ประชุมหารือร่วมกับประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารงานภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (นายธนิศร์ วงศ์ปิยะสถิตย์) ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี) อนุกรรมการฯ (นางสาวธีรดา ศุภะพงษ์) หัวหน้าโครงการ UNDP Accelerator Labs จาก UNDP แห่งประเทศไทย (นางสาวอภิญญา สิระนาท) รองหัวหน้าศูนย์วิจัยปัญญาประดิษฐ์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) (รศ. ดร. มงคล เอกปัญญาพงศ์) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

          ผลจากการประชุม สรุปได้ดังนี้

          1. แนวคิดการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ผ่านแพลตฟอร์มกลาง คือ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำงบประมาณ ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เห็นว่า แพลตฟอร์มนี้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่น ๆ ในวงกว้างได้อีก ไม่เฉพาะเรื่องการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมเท่านั้น

          2. แพลตฟอร์มนี้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะจะทำให้ได้รับข้อเสนอแนะและแนวคิดใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหาเรื่องต่าง ๆ เช่น การจัดการขยะในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกันจากทุกภาคส่วน

          3. การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างการมีส่วนร่วม ถือเป็นการยกระดับภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมให้มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมและแก้ไขปัญหา pain point ของระบบเดิม เช่น คนเข้ามาร่วมน้อย มีเวลาจำกัด คนไม่มา ติดธุระ ฯลฯ โดยสามารถนำมาช่วยสนับสนุนการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ในขั้นตอนของการจัดทำแผนพัฒนาได้

          NEXT STEP : สำนักงาน ก.พ.ร. และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะร่วมมือกันพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นเครื่องมือในการยกระดับภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วร่วมของประชาชน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีความสอดคล้องกับรูปแบบการทำงานของคนในพื้นที่ เช่น ระยะเวลา ขั้นตอนการดำเนินงาน กรอบการดำเนินการ ฯลฯ ต่อไป