สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน ป.ป.ช. และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ดำเนินกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ก้าวต่อไปของประเทศไทยสู่การเป็นสังคมที่ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล”

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน ป.ป.ช. และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ดำเนินกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ก้าวต่อไปของประเทศไทยสู่การเป็นสังคมที่ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล” เพื่อแปลงข้อเสนอแนะของ OECD ในการเสริมสร้างความซื่อตรงภาครัฐไปสู่การปฏิบัติ ในมิติการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างสังคมแห่งความซื่อตรง โดยได้รับเกียรติจากที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นางสาววิริยา เนตรน้อย) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญจาก OECD ผู้แทนจากสำนักงาน ป.ป.ช. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) ทั้งนี้ มีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายทางวิชาการ เข้าร่วมการประชุม จำนวน 110 คน

         สรุปประเด็นสำคัญ

         ประสบการณ์ต่างประเทศพบว่า ปัจจัยพื้นฐานของการสร้างสังคมแห่งความซื่อตรงที่ยั่งยืนต้องมาจากการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน พร้อมทั้งการสร้างองค์ความรู้ให้กับภาครัฐและภาคประชาชนในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุน เช่น

         - ประเทศโคลอมเบีย ได้พัฒนาเว็บพอร์ทัล เพื่อให้บริหารข้อมูลผลการดำเนินการตามตัวชี้วัดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความซื่อตรงและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
         - ประเทศฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เอสโตเนีย และสหราชอาณาจักร เปิดเผยข้อมูลผ่านทางออนไลน์ให้ประชาชนรับทราบ เพื่อสร้างให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการตัดสินใจของรัฐบาล
         - ประเทศอินโดนีเซีย นำกลไกการเปิดเผยทรัพย์สินออนไลน์มาใช้ โดยมุ่งเน้นไปยังเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานในลักษณะที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเอื้อให้เกิดการหาประโยชน์ส่วนตน เช่น เจ้าหน้าที่ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจะช่วยให้สาธารณชนร่วมตรวจสอบข้อมูลได้

         ประเทศที่มีการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองทางกฎหมายหรือการนำเทคโนโลยีเข้าใช้ในการแจ้งเบาะแส จะช่วยปกป้องความปลอดภัยให้กับผู้ที่มีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการทุจริต ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการแจ้งเบาะแสหรือการเปิดเผยข้อมูลการทุจริต ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมไม่ทนต่อเรื่องทุจริตและเกิดสังคมแห่งความซื่อตรง เช่น

         - ประเทศสเปน ที่สามารถแจ้งเบาะแสผ่านระบบ Mailbox ซึ่งมีเทคโนโลยีช่วยปกป้องไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้แจ้งเบาะแสได้ (https://www.antifraucv.es/en/anonymous-communications/?lang=en)

         ป.ป.ท. นำมาต่อยอดใช้เป็นช่องทางในการแจ้งเบาะแสการทุจริต ผ่านทางแอพลิเคชั่น Line เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ช่วยให้แก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการแจ้งเรื่อง และสามารถแสดงสถานะการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนรับทราบเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการ

         การพัฒนาหน่วยงานตามกรอบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) สามารถช่วยพัฒนาให้การปฏิบัติงานภาครัฐมีความโปร่งใส ลดโอกาสทุจริต และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างตรงจุด เช่น

         - การที่หน่วยงานภาครัฐให้บริการ e-Service อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการให้บริการทั่วไป อาทิ การแก้ไขปัญหาไฟฟ้า-ไฟทาง การขอถังขยะ-เก็บขยะ ต่อมาหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมากได้มีการขยายการบริการไปยังบริการด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ งานบริการชำระภาษี งานขอจดทะเบียนพาณิชย์ งานขออนุญาตรื้อถอน-ก่อนสร้าง-ดัดแปลงอาคาร การแจ้งความ การลงทะเบียนเรียน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวในการให้บริการประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์
         - การตอบข้อซักถามของประชาชนผ่านเว็บบอร์ด และได้พัฒนาไปสู่การสร้าง Messenger Live Chat จนมาสู่การพัฒนาเป็น Chatbot ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นพัฒนาการด้านการเปิดเผยข้อมูลและการสื่อสารสองทางระหว่างประชาชนและภาครัฐ เช่น Chatbot ของกระทรวงพาณิชย์