สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จัดกิจกรรม The 9th ASEAN Conference หัวข้อ “Promoting Digital Activities in the Government Space” ผ่านระบบการประชุมออนไลน์

แชร์หน้านี้


         สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) จัดกิจกรรม The 9th ASEAN Conference หัวข้อ “Promoting Digital Activities in the Government Space” ระหว่างวันที่ 15 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและอาเซียน +9 เกี่ยวกับการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีในการให้บริการภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชน มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน +9 จากหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาระบบราชการ ให้เข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลและการเป็นรัฐบาลเปิด จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย บรูไน ไทย และเกาหลีใต้ รวมทั้งผู้แทนจากธนาคารโลก Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand (JFCCT) OECD และ OECD Korea Policy Centre (OECD-KPC) เข้าร่วมการประชุม จำนวน 95 คน

         โดยในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ได้รับเกียรติจาก Mr. Janos Bertok, Deputy Director, Directorate for Public Governance, OECD และรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และมีการบรรยายพิเศษหัวข้อ “Improving the Efficiency and Sophistication of Public Services” โดย Ms. Hyun Jeong Lee, Director General, OECD-KPC และ Miss Vibeke Lyssand Leirvag, Vice President, Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand (JFCCT)

         สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

         - การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงาน เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล จะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐนำแนวปฏิบัติที่ดีมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของหน่วยงาน เพื่อรับมือกับความท้าทายของสังคมและเศรษฐกิจ ตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศของการเป็นรัฐบาลดิจิทัล และสามารถบรรลุเป้าหมายของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาครัฐยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ร่วมกัน

         - สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้ภาครัฐพัฒนาความสามารถในด้านดิจิทัลเร็วขึ้น โดยมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่คำนึงถึงผู้ใช้บริการเป็นหลัก

         - ความท้าทายที่ทุกรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ คือ การส่งเสริมให้ประชาชนเชื่อมั่นในการใช้บริการ e-Service ของภาครัฐ และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและระบบ

         กรณีศึกษาจากประเทศต่าง ๆ เช่น

         - ประเทศลาว : ให้ความสำคัญกับการให้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นช่องทางที่ประชาชนให้ความสนใจ อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์มที่มีมาตรฐานสำหรับเชื่อมต่อกันระหว่างกระทรวง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านดิจิทัลของบุคลากรภาครัฐด้วย

         - ประเทศเมียนมา : เทคโนโลยีดิจิทัลไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง ขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นและโครงสร้างพื้นฐานในบริบทต่าง ๆ

         ตัวอย่างการบริการออนไลน์ของประเทศไทย ได้แก่ แอปพลิเคชัน LandsMaps ของกรมที่ดิน ที่มีผู้ใช้บริการกว่า 100,000 คนต่อวัน เนื่องจากมีการพัฒนาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง (มีข้อมูลแปลงโฉนดที่ดินทั่วประเทศ กว่า 33 ล้านแปลง) และยกระดับความปลอดภัยของระบบโดยใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูล Secure Socket Layer (SSL) และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการใช้งาน

         ประสบการณ์จากประเทศสมาชิก OECD สะท้อนให้เห็นว่า Digital transformation ต้องคำนึงถึงขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ของรัฐในฐานะผู้ให้บริการ และความคาดหวังของผู้รับบริการ ซึ่งจะต้องสร้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนการทำงาน รวมทั้ง การคาดการณ์ในอนาคต เพื่อออกแบบงานบริการภาครัฐที่สนองตอบต่อความต้องการของประชาชน

         บทเรียนจากประเทศเกาหลีใต้ สะท้อนให้เห็นว่า การใช้เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้รัฐบาลมีความคล่องตัวและยืดหยุ่น และจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐที่สำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ การฟื้นฟูชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้กลับเป็นปกติ การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความเห็นต่อการบริหารงานภาครัฐ และการสื่อสารกับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดก่อนเกิดโควิด-19 เนื่องด้วยทรัพยากรมนุษย์และความสามารถที่หลากหลาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้ภูมิภาคนี้มีศักยภาพการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมในยุคหลังโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยจะต้องมีการปรับปรุงขีดความสามารถของภาครัฐในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที