สำนักงาน ก.พ.ร. รับฟังความคิดเห็นปรับปรุงหลักเกณฑ์รางวัลเลิศรัฐ 2565

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงหลักเกณฑ์รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 ทั้ง 3 สาขา ได้แก่ รางวัลบริการภาครัฐ รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานในการประชุม

         นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวว่า ความสำเร็จของการมอบรางวัลเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐพัฒนาการทำงาน ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 โดยมีผลงานของภาครัฐที่ได้รับรางวัลรวม 1,907 ผลงาน ทั้งการสร้างนวัตกรรมการบริการ พัฒนาการให้บริการ การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ และการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีผลงานดีๆ ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ผลงานของทุกหน่วยงานกระจายอยู่ทั่วประเทศ

         จากนั้นได้มีการแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ ประเภทรางวัล เงื่อนไขของแต่ละประเภทรางวัล เกณฑ์การประเมิน ข้อคำถาม และข้อเสนอแนะ สามารถสรุปได้ดังนี้

         รางวัลบริการภาครัฐ มีการเสนอแนวทางการปรับเปลี่ยนใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1) ประเภทและเงื่อนไขของรางวัล เช่น ประเภทบูรณาการข้อมูลเพื่อการบริการ โดยปรับเปลี่ยนขอบเขตเงื่อนไขการสมัครให้ครอบคลุมการบูรณาการทั้งด้านข้อมูล และด้านกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ประเภทยกระดับบริการที่ตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด 19 ปรับเปลี่ยนเป็นยกระดับบริการที่ตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤต เพื่อให้ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาวิกฤตในด้านต่าง ๆ และ 2) ระยะเวลาของผลงาน ได้เสนอให้คงระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่ต้องแสดงให้เห็นผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้างอย่างชัดเจน รวมถึงความยั่งยืนของผลงาน

         รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม มีการเสนอแนวทางการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ของประเภทรางวัล 3 ประเภท ได้แก่ 1) ประเภทเปิดใจใกล้ชิดประชาชน มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์เพื่อให้มีความสอดคล้องกับหลักองค์ประกอบระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (Open Government and Meaningful Participation Ecosystem : OG&MP) รวมถึงให้มีการเปิดเผยข้อมูลในเชิงภารกิจที่สำคัญขององค์กร เพื่อส่งเสริมให้เป็นภาครัฐระบบเปิดมากยิ่งขึ้น 2) ประเภทผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ ให้ความสำคัญกับ Active Citizen โดยจะพิจารณาให้รางวัลกับบุคคล/กลุ่มบุคคลที่มีผลงานในการส่งเสริมสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ 3) ประเภทเลื่องลือขยายผล ได้มีการเสนอปรับเงื่อนไขเพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานสามารถนำผลงานไปขยายผลทั้งการต่อยอดผลงานและขยายผลในเชิงพื้นที่ได้เพิ่มมากขึ้น

         รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ มีการเสนอแนวทางปรับปรุงเกณฑ์ในส่วนรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0) ใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1) การปรับเกณฑ์หมวด 1 – หมวด 6 โดยส่วนใหญ่ปรับในระดับ Significance ที่เน้นให้สอดคล้องกับการมุ่งสู่ดิจิทัล และ Open Government มากขึ้น และ 2) การปรับปรุงตัวชี้วัดหมวด 7 ให้สะท้อนความสำเร็จในการเป็นระบบราชการ 4.0 จากการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งหน่วยงานอยากให้มีการแลกเปลี่ยนตัวชี้วัดระหว่างหน่วยงานซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเทียบเคียง (Benchmarking) ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนาหน่วยงานต่อไป

         สำหรับผลการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. จะนำไปพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์รางวัล เสนอคณะทำงานปรับปรุงเกณฑ์รางวัลในแต่ละสาขา ก่อนที่จะนำเสนอคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพภาครัฐ และชี้แจงเกณฑ์การสมัครรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2565 ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ต่อไป