การประชุม KM “เปิดประตูสู่งานบริการดิจิทัลของรัฐบาลอังกฤษ และข้อเสนอแนะด้าน Digital Transformation ต่อประเทศไทย”

แชร์หน้านี้


         สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP in Thailand) โดยได้รับการสนับสนุนจาก Government Digital Service (GDS) แห่งรัฐบาลสหราชอาณาจักร จัดการประชุม KM เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ในหัวข้อ “เปิดประตูสู่งานบริการดิจิทัลของรัฐบาลอังกฤษ และข้อเสนอแนะด้าน Digital Transformation ต่อประเทศไทย” ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15.00 – 17.00 น. ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. Mr. Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย และ Mr. Andrew Beirne ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและแผนกพรอสเพอริตี้ และผู้แทนถาวรสหราชอาณาจักรประจำ UNESCAP ร่วมเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังนี้

         1. การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ของรัฐบาลอังกฤษ
รัฐบาลอังกฤษได้จัดตั้งหน่วยงาน Government Digital Service (GDS) ในปี 2010 เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านงานบริการภาครัฐให้เป็นดิจิทัล โดยการรวบรวมงานบริการภาครัฐไว้ในเว็บไซต์รัฐบาลเพียงเว็บไซต์เดียว GOV.UK ซึ่งช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการติดต่อขอรับบริการภาครัฐ เข้าถึงง่าย ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่าย จนได้รับรางวัล Design of the Year 2013 ภายใต้แนวคิด Agile & Lean 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) Discovery ทำความเข้าใจบริบทและปัญหา 2) Alpha พัฒนาต้นแบบและทดสอบในเบื้องต้น 3) Beta พัฒนาผลิตภัณฑ์และทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง 4) Live เปิดใช้งานจริงและปรับปรุงอยู่เสมอ

         2. โครงการศึกษาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสู่รัฐบาลดิจิทัลและการบริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลของประเทศไทย”
สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับ UNDP in Thailand และ GDS ดำเนินโครงการฯ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสู่รัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีข้อเสนอแนะดังนี้

             2.1 Data Sharing – พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูลโดยการเชื่อมโยงข้อมูลและจัดทำข้อมูลเปิด เพื่อเชื่อมข้อมูลภาครัฐของทุกหน่วยงาน รวมทั้งการนำ พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาใช้เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูล
             2.2 Digital Skills – พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรภาครัฐ โดยการอบรมและสร้างแรงจูงใจในการเติบโตทางสายอาชีพ
             2.3 Cooperation and Digital Governance – พัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการดิจิทัลภาครัฐ สร้างมาตรฐานการเชื่อมโยงและให้บริการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน (API)
             2.4 Digital Procurement System – พัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

         3. ข้อคิดเห็นที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

             - พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อาจสร้างความสับสนให้แก่หน่วยงานภาครัฐในการนำไปใช้ จึงควรกำหนดมาตรฐานการดำเนินงานให้ชัดเจน เพื่อป้องกันความสับสนในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
             - ส่งเสริมการดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีมาทำงานในหน่วยงานภาครัฐ อาจใช้วิธีการจ้างบุคลากรภายนอก (Outsourcing) และการสร้างเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพเพื่อสร้างแรงจูงใจ
             - ดำเนินการปรับเปลี่ยนกระบวนการ (Reprocess) ของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นดิจิทัล โดยการรวมศูนย์อำนาจ (Centralization) เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงานและประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น การนำ e-Signature มาใช้ เป็นต้น
             - ปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากขึ้น

         ผลการศึกษาจากโครงการนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. จะนำไปขยายผลในการวางแผนการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับงานบริการประชาชนให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ สะดวกรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่าย และมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลต่อไป