กิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากรางวัลเลิศรัฐสู่การขยายผล เรื่อง “Electronic Internal Audit เส้นทางสู่ความโปร่งใส”

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากรางวัลเลิศรัฐสู่การขยายผล เรื่อง Electronic Internal Audit เส้นทางสู่ความโปร่งใส ผ่านช่องทาง Facebook Live โดย รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) กล่าวเปิดกิจกรรมฯ พร้อมด้วยวิทยากรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประกอบด้วย นางสาววรกมล อยู่นาค สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ดร. ธนาพร เต็งรัตนประเสริฐ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นางสาวอุไรวรรณ รุกขวัฒนกุล กรมบัญชีกลาง นางสาวอรณิช สุขบาล สำนักงาน ป.ป.ท. และภาคเอกชน นายธนสาร วาสันธิ์ General Manager บริษัท I.A.P Internal Audit

         นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร กล่าวว่า การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถือเป็นการส่งเสริม ต่อยอด และขยายผลองค์ความรู้และต้นแบบของรางวัลเพื่อให้หน่วยงานอื่นนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งผลงาน
การตรวจสอบภายในด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Internal Audit : EIA) ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับรางวัลบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ เป็นผลงานที่ดีด้านการบริหารจัดการ
โดยสามารถนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการตรวจสอบภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้การบริหารจัดการองค์กรทั้งหมด ซึ่งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันในวันนี้ จะเป็นการจุดประกายความคิดนำไปสู่ความโปร่งใสการปฏิบัติราชการ ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนต่อไป

         ในช่วงของการบรรยาย มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

         นางสาววรกมล อยู่นาค สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงผลงานการตรวจสอบภายในด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ว่า มาจากข้อจำกัดเรื่องกำลังคน งบประมาณ และระยะเวลา จึงต้องการยกระดับการปฏิบัติงานของหน่วยรับตรวจ โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยในการทำงาน เกิดความท้าทายในการพัฒนาทั้งภายในและภายนอก จนสามารถฝ่าฟันและได้รับรางวัลฯ จากสำนักงาน ก.พ.ร. ปัจจุบันยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างนำร่องโปรแกรมสำหรับผู้ตรวจสอบภายในโดยเฉพาะ หากพัฒนาสำเร็จ ทุกหน่วยงานจะสามารถนำไปใช้ตามกระบวนการปฏิบัติงานของกรมบัญชีกลาง เรียกว่า Electronics Report Plan : ERP

         ดร. ธนาพร เต็งรัตนประเสริฐ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงประโยชน์การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในตรวจสอบ การตัดสินใจ และการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ และการดำเนินการแบบมีส่วนร่วมเป็นกลไกที่ดีที่สุดในการยกระดับนวัตกรรมการบริหารงานภาครัฐ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันแบบเครือข่ายระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางสาธารณะ ประโยชน์ของรางวัลในการจุดประกายวิธีคิดและรวบรวมนักนวัตกร สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นต้นแบบเพื่อให้หน่วยงานอื่นได้ต่อยอด ขยายผล รวมถึงความท้าทายของ EIA คือ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานและการนำระบบ Tracking System ไปพัฒนาต่อไป

         นางสาวอุไรวรรณ รุกขวัฒนกุล กรมบัญชีกลาง ได้กล่าวถึงการตรวจสอบภายในด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่ามีประโยชน์สำหรับหน่วยตรวจสอบภายในที่มีหน่วยงานในภูมิภาคจำนวนมาก ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการตรวจสอบไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการใช้ Data Analysis สอดคล้องกับมาตรฐานการตรวจสอบภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐที่ให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลอื่น ๆ มาช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน

         นางสาวอรณิช สุขบาล สำนักงาน ป.ป.ท. ได้กล่าวถึง ระบบตรวจสอบภายในภาครัฐมีเครื่องมือ
การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ซึ่งเป็นเครื่องมือในเชิงบวกในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ โดยหากภาครัฐมีระบบการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพแล้ว ย่อมส่งผลต่อการประเมิน ITA

         นายธนสาร วาสันธิ์ General Manager บริษัท I.A.P Internal Audit ได้กล่าวถึง ระบบตรวจสอบภายในและเทคโนโลยีการตรวจสอบแบบ Electronic ในภาคเอกชนยุค 4.0 โดยสิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้ตรวจสอบภายในต้องมีความเป็นกลางดำรงความเป็นอิสระ และความเที่ยงธรรม และในอนาคตบทบาทของผู้ตรวจสอบภายใน ควรเพิ่มมูลค่าจากการตรวจสอบ (Assurance) โดยการเป็นที่ปรึกษา (Consultant) และมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี เช่น Data analytics/Artificial intelligence เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

         ในช่วงที่ 2 เป็นการเสวนา เรื่อง “Electronic Internal Audit เส้นทางสู่ความโปร่งใส” โดยวิทยากรทั้ง 4 ท่านจากภาครัฐและภาคเอกชน เห็นตรงกันว่า จะร่วมมือกัน ส่งเสริม สนับสนุน ทั้งองค์ความรู้และแนวทางการตรวจสอบภายใน เพื่อให้ภาครัฐได้นำระบบดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้ ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ท. จะนำระบบ EIA เสนอต่อคณะอนุกรรมการกำกับและพัฒนาการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนาร่วมกับระบบ ITA ให้เป็นเครื่องมือในการยกระดับมาตรฐานการการตรวจสอบดำเนินงานภาครัฐและยกระดับค่าคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index; CPI) ต่อไปทั้งนี้

         ทั้งนี้ สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ Facebook Fanpage กพร OPDC และสามารถดาวน์โหลดเอกสารที่นี่
https://drive.google.com/drive/folders/1mIs0lUC08VdpeI6LGpVDNF5uCS35eFZr?fbclid=IwAR0XCGliG0fMEdNwcleR-JT2N77UCmsnL0Ai3ogiIYKLnr2uGXW5fIOr0hY