กิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากรางวัลเลิศรัฐสู่การขยายผล เรื่อง “สร้างอนาคต: เทคโนโลยี 3D เพื่อผู้พิการ”

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากรางวัลเลิศรัฐสู่การขยายผล เรื่อง“สร้างอนาคต: เทคโนโลยี 3D เพื่อผู้พิการ” ผ่านช่องทาง Facebook Live โดยมี รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) กล่าวเปิดกิจกรรมฯ พร้อมด้วยวิทยากรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประกอบด้วย นายแพทย์วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น ดร. ธนาพร เต็งรัตนประเสริฐ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) นายแพทย์ธนะสิทธิ์ ก้างกอน โรงพยาบาลชลบุรี นางณฐอร อินทร์ดีศรี กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นายเอกภพ รุจิระประภาส บริษัท Astride Bionic และแพทย์หญิงปริยสุทธิ์ อินทสุวรรณ ผู้ก่อตั้งโครงการ Thai Reach ไทยฤทธิ์ พิชิตความพิการ

         นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร กล่าวว่า รางวัลเลิศรัฐเป็นรางวัลที่มอบให้แก่หน่วยงานที่ทุ่มเทพัฒนาการให้บริการ ซึ่งปี 2563 ผลงาน Thai Reach ไทยฤทธิ์ พิชิตความพิการ ได้รับรางวัล Best of the Best สาขาบริการภาครัฐ ซึ่งเป็นการพัฒนานวัตกรรมการสร้างกายอุปกรณ์มือเทียมด้วยการใช้ 3D Printing ที่มีคุณค่า สร้างโอกาสให้คนพิการได้ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ จึงเป็นโอกาสที่ดีและเป็นตัวอย่างของความท้าทายที่จะต่อยอดขยายผลเพื่อชี้ให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยสิ้นสุดความพิการหรือสร้างโอกาสในการมีความสุขอย่างเท่าเทียม

         ในช่วงของการบรรยายนายแพทย์วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ Thai reach: ไทยฤทธิ์ พิชิตความพิการ ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มก่อการดี กลุ่มก่อการดีสากลและมูลนิธิสายใจไทย ซึ่งริเริ่มนำเทคโนโลยี 3D มาใช้ผลิตแขนเทียม โดยนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคเรื้อนในพื้นที่ และขยายสู่ผู้พิการและผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันโครงการผลิตกายอุปกรณ์มากกว่า 300 ชิ้น จัดพิมพ์ชุด PPE มากกว่า 2,000 ชิ้น รวมถึงมีการสร้างเครือข่าย กระจายองค์ความรู้ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ

         จากนั้น ดร. ธนาพร เต็งรัตนประเสริฐ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการ Thai reach เกิดจากการมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีการสนับสนุนจากอาสาสมัคร โดยมีถ่ายทอดทักษะ และขยายผลสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้มีความท้าทายในการสร้างความร่วมมือระหว่างบุคคล พัฒนาบุคคลจนสามารถให้ผู้พิการหรือเจ้าหน้าที่ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถพัฒนากายอุปกรณ์ได้ด้วยตนเอง

         ด้านนายแพทย์ธนะสิทธิ์ ก้างกอน โรงพยาบาลชลบุรี ได้เล่าถึงการนำเทคโนโลยี 3D มาใช้ในการแพทย์ว่าสามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย เวลา และผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายสาขา ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแพทย์ในอนาคต รวมถึงได้เสนอแนวทางการพัฒนาให้ยั่งยืน โดยให้ผู้มารักษาที่ต้องใช้ 3D Printing สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาได้ รวมไปถึงการลดหย่อนภาษีนำเข้าเครื่องพิมพ์ 3D ด้วย

         ส่วนนางณฐอร อินทร์ดีศรี จากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้นำเสนอถึงการดูแลผู้พิการให้สามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ขจัดอุปสรรคในการอยู่อาศัย การเดินทาง การเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งแขนเทียม จาก 3D Printing นี้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ รวมไปถึงนายเอกภพ รุจิระประภาส บริษัท Astride Bionic ที่ได้นำเสนอถึงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ในหลายรูปแบบเพื่อทดแทนสรีระของมนุษย์ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้พิการ

         ต่อจากนั้นเป็นการเสวนาแนวทางการสร้างเครือข่ายการพัฒนาเทคโนโลยี 3D เพื่อผู้พิการและการแพทย์ โดยสรุปสาระสำคัญได้ว่า เทคโนโลยี 3D หรือนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาระบบราชการ เพราะเป็นการสร้างการเข้าถึงงานบริการภาครัฐให้มากขึ้น รวมถึงเป็นการพัฒนาการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะ ความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพ เพื่อให้ผู้ที่มีความพิเศษแตกต่างเหล่านั้นได้เข้าถึงกายอุปกรณ์ได้มากขึ้น หรือการเป็นผู้ที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในสังคม สำหรับภาคเอกชนมองว่าเทคโนโลยีดังกล่าว ส่งเสริมให้ผู้รับบริการสามารถมีส่วนในการออกแบบอุปกรณ์ร่วมกับผู้พัฒนา ทำให้เกิดความพึงพอใจและใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคของการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน คือ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และการสร้างความเชื่อว่าจะทำอย่างไร ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นถึงประโยชน์ร่วมกันในการพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยี 3D โดยมีแนวทางในการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น ได้แก่ 1) การสร้างการรับรู้ร่วมกัน 2) มีหน่วยงานกลางในการเชื่อมประสานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน 3) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ และ 4) การส่งเสริมทุนวิจัยในการพัฒนาผู้พิการ ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีความสนใจในการเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาร่วมกับภาครัฐ เพียงแต่ยังขาดช่องทางและการเชื่อมประสาน โดยในส่วนของภาครัฐเองต้องการความเชี่ยวชาญจากภาคเอกชนในการต่อยอดนวัตกรรม ดังนั้น การมีกิจกรรมในวันนี้จึงเป็นเสมือนการจุดประกายสำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมให้แก่ผู้พิการ

         ทั้งนี้ สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ Facebook Fanpage กพร OPDC และสามารถดาวน์โหลดเอกสารที่นี่ https://drive.google.com/drive/folders/1vDD-yoqRPVwrdGHSXBdZnKxfGVikjEKV?usp=sharing