สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ในการทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาตเพื่อยกเลิกการอนุญาตหรือมีมาตรการอื่นแทนการอนุญาต ในกระบวนงานที่มีความสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การสร้างความมั่นคงและวางรากฐานของประเทศตลอดจนการลดอุปสรรคในการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน จำนวน 66 กระบวนงาน จาก 29 หน่วยงาน โดยมีรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) เป็นประธานการประชุม ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมบริการภาครัฐ (นางสาวนภนง ขวัญยืน) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายจุมพล นิติธรางกูร) ร่วมให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐในครั้งนี้ด้วย สาระสำคัญของการประชุมโดยสรุปดังนี้

         หลักการสำคัญในการดำเนินการตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกฯ ในการทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาต คือ 1) ทบทวนเพื่อยกเลิกการอนุญาต เช่น กฎหมายล้าสมัย กฎหมายซ้ำซ้อน กระบวนงานที่ไม่ได้ดำเนินการแล้ว 2) ทบทวนเพื่อปรับปรุงงานบริการให้ดีขึ้น เช่น ลดขั้นตอน/ระยะเวลาการให้บริการ การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ การใช้วิธีการจดแจ้งแทนการอนุญาต การลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม

         หน่วยงานต่าง ๆ ได้ให้ความเห็นต่อการทบทวนกฎหมายในกระบวนงานสำคัญที่อยู่ในความรับผิดชอบ ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

         1) กระบวนงานที่เห็นควรยกเลิกการอนุญาต จำนวน 1 กระบวนงาน ได้แก่ การขออนุญาตเปลี่ยนหรือเพิ่มประเภทหรือลักษณะงาน นายจ้าง ท้องที่หรือสถานที่ทำงานของคนต่างด้าว เพื่อปรับปรุงกระบวนการในการควบคุมและตรวจสอบการทํางานของคนต่างด้าว การรับคนต่างด้าวเข้าทํางาน ให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น
         2) กระบวนงานที่เห็นควรปรับปรุงการอนุญาต จำนวน 25 กระบวนงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงกระบวนงานโดยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการยื่นคำขออนุญาต เช่น การขอรับใบอนุญาตเป็นผู้มีสิทธิทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจดทะเบียนหรือการต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การจดทะเบียนประเภทโอนอสังหาริมทรัพย์ การขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง การอนุญาตเป็นผู้ดําเนินการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ การทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ เป็นต้น
         3) กระบวนงานที่เสนอไม่ทบทวน จำนวน 32 กระบวนงาน เนื่องจาก

             - ได้มีการทบทวนและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกแล้ว เช่น การจดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ. สหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 เพื่อมอบอำนาจให้สหกรณ์จังหวัดเป็นนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรประจำจังหวัดที่กลุ่มเกษตรกรตั้งอยู่ การจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
             - ได้มีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้วในปัจจุบัน เช่น การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว การขออนุญาตนำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร การขออนุญาตให้ชาวต่างชาติประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
             - ไม่สามารถปรับปรุงกระบวนงานได้ เนื่องจากหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ เช่น การพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากจะทบทวนต้องมีแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 และกฎหมายลำดับรองซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน

         ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ข้อมูลแก่หน่วยงานเพื่อใช้ในการพิจารณาการทบทวนกฎหมาย ตามคำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการใช้ระบบอนุญาตในกฎหมาย ซึ่งแบ่งระดับการควบคุม กำกับดูแล หรือการที่รัฐเข้าไปแทรกแซงเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการทำกิจกรรม การดำเนินชีวิต หรือการประกอบธุรกิจของประชาชนในกฎหมาย ออกเป็น 4 ระดับ จากเข้มข้นน้อยไปยังเข้มข้นมาก คือ 1) การกำหนดกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติตาม 2) การจดแจ้ง 3) การจดทะเบียน/ขึ้นทะเบียน และ 4) การอนุญาต/ใบอนุญาต ซึ่งควรพิจารณาให้เหมาะสมกับกระบวนงานและความจำเป็นของหน่วยงานเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชน ??

         ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. จะได้รวบรวมความคิดเห็นและรายงานผลการทบทวนกฎหมายและยกเลิกการอนุญาตหรือจัดให้มีมาตรการอื่นแทนการอนุญาต ตามมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ต่อ อ.ก.พ.ร. และ ค.ร.ม. ต่อไป