สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมสัมมนาให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ “การปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน” ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันอังคารที่ 14 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมสัมมนาให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ “การปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน” ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (แอปพลิเคชัน Zoom และ Facebook Live) โดยมีเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม พร้อมด้วยวิทยากร 3 ท่าน ประกอบด้วย 1) ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล 2) นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล (เลขาธิการ ก.ล.ต.) และ 3) นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ (อธิบดีกรมสรรพากร) มาร่วมแชร์ประสบการณ์การปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน

         นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ (เลขาธิการ ก.พ.ร.) กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ COVID19 ทำให้การปฏิบัติงานของราชการต้องเปลี่ยนแปลงไป และยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่คาดหวัง รวมไปถึงการตอบสนองต่อเป้าหมายและการคาดหวังของผู้รับบริการคือประชาชนและภาคเอกชน และไม่ทันต่อความคาดหวังของฝ่ายนโยบาย เนื่องจากถูกพันธนาการด้วยกฎ ระเบียบที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นจากกฎ ระเบียบภายในของสำนักงานเอง รวมไปถึงนโยบาย และมติคณะรัฐมนตรี ถ้ากฎเกณฑ์ไม่ได้ถูกปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปก็จะทำให้เป็นสิ่งที่ยากในการปรับเปลี่ยน และสิ่งที่เปลี่ยนยากที่สุดก็คือ กฎหมาย ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลานานในการปรับเปลี่ยน ดังนั้น ในสถานการณ์ COVID19 เป็นโอกาสดีที่จะนำการ Reprocess มาปรับกระบวนการทำงานโดยใช้ Regulatory Guillotine มาดำเนินการสำรวจกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และให้ผู้รับบริการมีความรู้สึกที่มีประสิทธิภาพ และทำให้การทำงานง่ายขึ้น

         ในช่วงของการบรรยายมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

         ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวถึง โครงการ Regulatory Guillotine ซึ่งเป็นโครงการทบทวนกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน โดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วและดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถลดระยะเวลาและต้นทุนการดำเนินการได้เป็นจำนวนมาก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการทำ 5ส กฎหมายไทย เช่น โครงการทบทวนการอนุญาตทางราชการ (Thailand’s Simple & Smart License) โครงการ BizPortal การยกระดับคุณภาพการให้บริการประชาชน ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการลด เลิก ละ เพื่อประชาชน

         นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล (เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต.) กล่าวถึงประสบการณ์ในการปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อลดอุปสรรคของประชาชนและภาคธุรกิจของกรมบังคับคดี โดยร่วมมือกับสำนักงาน ก.พ.ร. และ ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในการขับเคลื่อนกรมบังคับคดีให้เป็น กรมบังคับคดี 4.0 เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และทำให้การดำเนินชีวิตของข้าราชการกรมบังคับคดีเกิดความสะดวก คล่องตัวในการทำงาน ที่เข้ากับหลักการ “ทำน้อยแต่ได้มาก” และได้เข้าร่วมโครงการ Ease of Doing Business ซึ่งเป็นโครงการที่ทำให้ประเทศไทยสามารถยกระดับได้ ซึ่งเป็นความท้าทายของกรมบังคับคดี ทำให้กรมบังคับคดีออกจากคำกล่าวที่ว่า “ช้า ขั้นตอนมาก กฎกติกายิบย่อย” และได้นำโครงการดังกล่าวไปต่อยอดกับสำนักงาน ก.ล.ต. โดยนำโครงการ Regulatory Guillotine มาปรับปรุงกฎหมายและกฎเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. และปรับการบริการให้เป็น Digital Service มากยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับองค์กรให้เป็น Innovative Organization สร้างการมีส่วนร่วม สื่อสาร และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยใช้หลัก “We are the Team” “เราจะก้าวไปด้วยกัน”

         นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ (อธิบดีกรมสรรพากร) ได้กล่าวถึงประสบการณ์ในการปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อลดภาระอุปสรรคของประชาชนและภาคธุรกิจของกรมสรรพากร ซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “องค์กรชั้นนำที่จัดเก็บภาษีอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ด้วยนวัตกรรมและบุคลากรคุณภาพ เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการคลัง” โดยได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาเป็นฐานข้อมูลเพื่อความสะดวกในการเสียภาษีของประชาชน โดยใช้กลยุทธ์ D2DRIVE และบูรณาการกับหน่วยงานภายนอก รวมถึงการรับฟังความคิดเห็น การออกแบบ พัฒนา ติดตาม และประเมินผล ก่อให้เกิดการลดเอกสาร ลดขั้นตอนการดำเนินงาน ลดระยะเวลาในการติดต่อ และลดค่าใช้จ่ายจากการบริการ ทำให้ประชาชน/ผู้มารับบริการมีความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น