การประชุม อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม ครั้งที่ 6/2564

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันจันทร์ ที่ 13 สิงหาคม 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุม อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม ครั้งที่ 6/2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีการพิจารณาและรับทราบวาระต่าง ๆ ดังนี้

         1. พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในประเด็นสำคัญ (Agenda) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 2 เรื่องที่สำคัญ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการก้าวไปสู่โครงการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ต่อไป ได้แก่

             1.1 การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory budgeting) ระดับท้องถิ่น โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านแพลตฟอร์มกลาง เพื่อแสดงรายละเอียดของโครงการ การใช้จ่ายงบประมาณของท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้ผู้นำชุมชน ประชาชน และเยาวชน สามารถเสนอโครงการ ตรวจสอบ และติดตามการดำเนินโครงการของภาครัฐ รวมทั้งร่วมลงคะแนนเสียงโครงการที่ต้องการดำเนินการในพื้นที่

             1.2 การเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญของโรงเรียน และการพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น ข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนน จำนวนครูและนักเรียน อัตราครูต่อนักเรียน ระดับการศึกษาของครู การใช้งบประมาณโครงการต่าง ๆ ของโรงเรียน อาทิ โครงการอาหารกลางวัน ฯลฯ โดยการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญของโรงเรียนนี้จะนำมาซึ่งความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ โรงเรียน ครอบครัว ภาคเอกชน วัด ชุมชน และประชาชน ฯลฯ ในลักษณะ “Customization” ทั้งในด้านกายภาพ และด้านการเรียนรู้ เช่น การจัดทำหลักสูตรการศึกษาที่สอดคล้องกับลักษณะของท้องถิ่น การจัดสรรทรัพยากรให้ตรงตามความต้องการของโรงเรียนแต่ละแห่ง การพัฒนาหลักสูตรของนักเรียนที่ตรงตามความต้องการของนักเรียนแต่ละกลุ่ม การพัฒนาโรงเรียนและคุณภาพการศึกษาจากการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและท้องถิ่นใกล้เคียง ฯลฯ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพการศึกษา

         ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในประเด็นสำคัญ (Agenda) 2 เรื่องนี้ จะเชื่อมโยงการทำงานกับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการในจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูง (High Performance Provinces : HPP) ไปพร้อมกันด้วย เช่น การเลือกจังหวัดและพื้นที่ดำเนินการ การเชื่อมโยงการดำเนินงานในระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น เป็นต้น

         2. รับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงาน 3 เรื่อง ได้แก่

             2.1 ความก้าวหน้าการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)

             2.2 ผลการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (Open Government and Meaningful Participation Ecosystem : OG&MP) จังหวัดสิงห์บุรี และลำปาง

             2.3 รายงานผลการประชุมสัมมนา “ภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย”