นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ร่วมอภิปรายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อผลักดันและบูรณาการติดตามการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย หัวข้อ “Tac Team Thailand (Together against Corruption) เพื่อเพิ่มคะแนนและลดอันดับ CPI ของประเทศไทย” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ZOOM Application)

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 เวลา 10.00 น. นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ร่วมอภิปรายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อผลักดันและบูรณาการติดตามการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย หัวข้อ “Tac Team Thailand (Together against Corruption) เพื่อเพิ่มคะแนนและลดอันดับ CPI ของประเทศไทย” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ZOOM Application) โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอภิปราย จำนวน 4 หน่วยงาน ได้แก่

         1) สำนักงาน ป.ป.ช.
         2) สำนักงาน ป.ป.ท.
         3) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
         4) สำนักงาน ก.พ.ร.

         ผลจากการอภิปราย สรุปได้ดังนี้

         1. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) เพื่อให้คะแนน CPI ของประเทศไทยเป็นไปตามเป้าหมาย โดยเป็นดัชนีสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้การยอมรับ ซึ่งนักลงทุน/นักธุรกิจหลายประเทศมักจะนำคะแนนไปประกอบการตัดสินใจที่จะลงทุนในแต่ละประเทศ โดยการทุจริตคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นต้นทุนหรือความเสี่ยงต่อการเข้ามาประกอบธุรกิจ ดังนั้น เพื่อเป็นการผลักดันและสนับสนุนให้การดำเนินการตามข้อเสนอแนะให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ให้การยกระดับดังกล่าวนำไปสู่เป้าหมาย จึงต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการยกระดับ CPI ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

         2. สำนักงาน ก.พ.ร. : การยกระดับค่าคะแนน CPI ต้องเน้นไปที่การสื่อสาร สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการป้องกันการทุจริต สำหรับภารกิจของสำนักงาน ก.พ.ร. คือ การพัฒนาระบบราชการให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม การได้รับบริการอย่างทั่วถึง ซึ่งมีเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยยกระดับ CPI จำนวน 5 เครื่องมือ ได้แก่

             1) การดำเนินการผลักดันตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 : ในการดำเนินการที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐในการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนและปรับลดจำนวนคู่มือฯ เหลือ 3,418 คู่มือ/กระบวนงาน ลดสำเนาเอกสาร จำนวน 530 ใบอนุญาต และลดขั้นตอน/ระยะเวลาได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30 – 50 จำนวน 532 ใบอนุญาต จากการดำเนินการดังกล่าว สามารถนำไปสู่การลดทุจริตในการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐได้ นอกจากนี้ ผลักดันให้เกิดการจัดทำแบบฟอร์มเอกสารราชการ 2 ภาษา ซึ่งสามารถลดภาระเอกสารในการจ้างแปล และลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน

             2) Ease of Doing Business (EoDB) เป็นการประเมินความสะดวกในการติดต่อราชการ โดยปรับปรุงกระบวนงาน จำนวน 11 ด้าน เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อผู้รับบริการตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการประกอบธุรกิจภายใต้แนวคิด “ง่ายขึ้น ดีขึ้น ถูกลง” นำไปสู่การเป็น smart regulation โดยการยกระดับ EoDB ให้มีอันดับเพิ่มขึ้น คือ การขับเคลื่อนการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ของภาครัฐ ประกอบด้วยการทบทวนกฎหมาย กฎระเบียบและปรับปรุงกระบวนงาน โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเป็นระบบ e-Service ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้แก้ไขกฎหมายดังกล่าวรวม 84 ฉบับ ภายในปี 2564

             3) ธรรมาภิบาลภาครัฐ เน้นส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลภาครัฐเพื่อนำไปสู่การบริการที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความสำเร็จในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ

             4) การมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการบริหารราชการ โดยรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนและประชาชน มาปรับปรุงงานบริการภาครัฐ

             5) ระบบราชการ 4.0 : แนวคิดระบบราชการ 4.0 ประกอบด้วย 3 มิติ คือ ภาครัฐที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย โดยมาจากปัจจัยความสำเร็จ 3 ประการ คือ การสานพลังระหว่างภาครัฐและภาคอื่น ๆ การสร้างนวัตกรรม และการปรับเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลให้ระบบราชการเกิดความโปร่งใส โดยใช้แนวคิดเรื่องการสร้างมาตรฐานด้านการบริการรูปแบบใหม่ เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจ ลดช่องว่างโอกาสในการเรียกรับผลประโยชน์ ส่งเสริมการให้บริการในรูปแบบ Automated Processing นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาให้บริการโดยไม่ต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ (Zero Touch) และการผลักดันการให้บริการแบบออนไลน์(e-Service) ของภาครัฐ โดยปรับปรุงบริการภาครัฐที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งพิจารณาจากความคาดหวังของประชาชนใน 4 ด้าน ประกอบด้วย ช่องทางบริการที่ทันสมัย ข้อมูลเข้าใจง่ายและสอดคล้องกันทุกช่องทาง บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวโดยไม่ต้องติดต่อหลายหน่วยงาน มีกรอบเวลาและมาตรฐานที่ชัดเจน โดยหน่วยงานรัฐต้องส่งมอบงานบริการภาครัฐ คือ ลดการใช้เอกสาร ตอบสนองข้อร้องเรียน พัฒนางานบริการให้ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การลดทุจริต

             ทั้งนี้ มีข้อเสนอในการยกระดับ CPI คือ 1) มุ่งเน้นไปที่กระบวนงานที่สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตมาปรับปรุงกระบวนงาน หรือหน่วยงานที่มีการพัฒนาการให้บริการด้วยความโปร่งใสโดยเน้นการสื่อสารและสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดในสังคม 2) การเป็นภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย เป็นการเปิดเผยและส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูล และเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาพัฒนาด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในการดำเนินงานของสำนักงาน ก.พ.ร. นั้น แบ่งเป็น 2 มิติ คือ มิติของประชาชนในการออกแบบระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงพัฒนากระบวนการทำงานภาครัฐผ่านกิจกรรม MY BETTER COUNTRY HACKATHON ส่งผลให้เกิดข้อเสนอในการปรับปรุงกระบวนการทำงานภาครัฐ เช่น การแก้ปัญหา PM 2.5 สำหรับมิติของภาครัฐ คือ การขับเคลื่อนห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ (Government Innovation Lab) โดยกระบวนการทำงานของห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ เข้ามาทำงานร่วมกันในการพัฒนานวัตกรรมภาครัฐ ทำให้ต้นแบบนวัตกรรมภาครัฐที่พัฒนาขึ้นมานั้นเกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชน โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมภาครัฐเพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชน
สำหรับการดำเนินงานต่อไปนั้น จะมุ่นเน้นการเป็นภาครัฐระบบเปิด การปรับเปลี่ยนงานให้บริการเป็นรูปแบบe-Service พัฒนาระบบการติดตามเอกสาร Tracking System และติดตามการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนเพื่อนำไปปรับปรุงงานบริการภาครัฐต่อไป

         3. สำนักงาน ป.ป.ช. : การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย ต้องอาศัยการบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยสิ่งสำคัญที่ควรมุ่งเน้น คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีจิตสำนึกและพฤติกรรมยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยกำหนดให้เด็ก เยาวชน และประชาชน มีทัศนคติและพฤติกรรมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ร้อยละ 80) ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการปรับวิธีคิดให้รู้จักแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยในการบูรณาการแนวทางความร่วมมือทางศาสนาในการต่อต้านการทุจริต โดยการประยุกต์หลักธรรมคำสอนกับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา

         4. สำนักงาน ป.ป.ท. : การใช้มาตรการด้านการป้องกัน และตรวจสอบในการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐ โดยขับเคลื่อนงานตามกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 จำนวน 4 แสนล้านบาท โดยสำนักงาน ป.ป.ท. ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของ ศอตช. เป็นศูนย์กลางรับเรื่องราวร้องเรียนของประชาชนที่รายงานความไม่โปร่งใส โดยประสานงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงเป็นศูนย์อำนวยการกลางในการบูรณาร่วมกับ สำนักงาน ปปง. กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งมีภารกิจหลัก 4 ด้าน ประกอบด้วย เป็นศูนย์กลางอำนวยกลาง บูรณาการด้านข้อมูล รับเรื่องร้องเรียนการที่หน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกฯ รวมถึงแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการทุจริตและประพฤติมิชอบ นอกจากนี้ ดำเนินการผลักดันให้หน่วยงานมีการประเมินความเสี่ยงการทุจริต โดยกำหนดกรอบการดำเนินการเพื่อวางระบบการประเมินความเสี่ยงการทุจริตของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นในทิศทางเดียวกัน

          5. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ : แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการประเมินค่าคะแนน CPI ของประเทศไทยด้านเศรษฐกิจ คือ แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (จัดทำโดยหน่วยงาน IMD) และแหล่งข้อมูล Executive Opinion Survey (จัดทำโดยหน่วยงาน WEF) โดย สศช. มีบทบาทในการขับเคลื่อน คือ เป็นเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และประธานหอการค้า ภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการ โดยการดำเนินการดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับการจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 มุ่งเน้นการปรับสมดุลภาครัฐ โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะ โดยกำหนดเป้าหมายอีก 20 ปีข้าหน้า ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ นานาประเทศต่างให้ความสำคัญกับปัญหาการคอร์รัปชันในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศ ดังนั้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือขับเคลื่อนการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนในการผลักดันค่าคะแนน CPI ให้เพิ่มขึ้น ซึ่ง CPI เป็นการวัดการรับรู้ของผู้ตอบแบบสำรวจ ดังนั้นจึงควรเน้นไปที่การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจนมากขึ้น การแก้ไขกฎหมายที่เอื้อต่อการใช้ดุลพินิจ และการเบิกจ่ายงบประมาณที่คุ้มค่า