แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สู่บริการภาครัฐยุค New Normal

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “ปลดล็อกอุปสรรค สู่บริการภาครัฐยุค New Normal” โดยมี รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) กล่าวเปิดการจัดกิจกรรม ผ่านช่องทาง facebook live ของสำนักงาน ก.พ.ร. โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับชมถ่ายทอดสด
กว่า 2,500 คน ซึ่งการจัดกิจกรรมได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

         การบรรยายเรื่อง “การยกระดับการให้บริการภาครัฐในยุค New Normal” โดยรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข)

         - การบริการภาครัฐในยุค New Normal ภาครัฐเผชิญความท้าทายที่ต้องปรับตัวให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและส่งมอบการบริการที่ทีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือภาครัฐต้องคิดให้ไว ทันเหตุการณ์ เน้นผลลัพธ์ เนื่องจากประชาชนมีความคาดหวังใหม่ๆ ที่ทำให้ภาครัฐต้องปรับกลยุทธ์ให้ตอบสนองต่อความต้องการมากขึ้น โดยต้องพัฒนาให้เป็น Digitization และมีการใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูล Smart Technology มีการวางแผนในการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

         - 5 ปี ที่ผ่านมา ภาครัฐสามารถอำนวยความสะดวกในการตอบโจทย์ยุค New normal ในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่การลดสำเนา การลดขั้นตอน การชำระค่าธรรมเนียมแทนการต่ออายุใบอนุญาต การปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเป็น e-service ซึ่งทางหน่วยงานส่วนภูมิภาคมีตัวอย่างดีๆ ของการพัฒนางานบริการ เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ศูนย์บริการร่วมเทศบาลนครสงขลา ศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จเทศบาลเมืองแม่เหียะ อบต.หนองตาแต้ม เป็นต้น

         - ก้าวต่อไป Next step เป็นบทพิสูจนของภาครัฐที่จะส่งมอบบริการที่มีคุณค่า โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นจดแจ้งออนไลน์ มาช่วยกันทบทวนอุปสรรคว่ากฎหมายใดมาเป็นกำแพงกั้น การปรับความคิดให้เป็นดิจิทัล การรักษาระบบความมั่นคงปลอดภัย การปรับเปลี่ยนงานบริการที่มีอยู่ในระบบ e-service การติดตาม tracking ได้ การสำรวจความพึงพอใจของประชาชน การรับฟัง feedback สร้างเวทีให้เป็น Open Government

         การบรรยาย เรื่อง “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับการพัฒนาบริการประชาชนในยุค New Normal” โดย นายธวัชชัย เลี้ยงประเสริฐ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

         - การจัดบริการสาธารณะ เป็นภารกิจที่สำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 7,850 แห่ง รวมถึงท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เพื่อพัฒนาบริการให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน อย่างไรก็ตามแต่ละท้องถิ่นมีความสามารถ ขนาด และจำนวนประชากร ของแต่ละแห่งจึงส่งผลให้บริบทการให้บริการในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ในขณะเดียวกันที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้พัฒนาการให้บริการประชาชนสอดรับกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ รวมถึงปัจจุบันแต่ละท้องถิ่นก็ได้พัฒนาช่องทางการติดต่อประชาชนและการรับชำระค่าธรรมเนียม โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประโยชน์

        - สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้เกิดชีวิตวิถีใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ปรับตัวเป็นอย่างมาก เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นการจัดการศึกษาให้เด็ก ทางกรมส่งเสริมการปกครองถิ่นได้มีแนวทางแนะนำให้หน่วยงานดำเนินการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ รวมถึงคำนึงถึงสุขภาพอนามัยของเด็ก เช่น ส่งนมโรงเรียนไปให้ที่บ้าน เป็นต้น

         สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับ พ.ร.ฎ. การกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ. 2564
โดย นายจุมพล นิติธรางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนากฎหมาย กองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

         - พ.ร.ฎ. การกําหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชําระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตฯ มีที่มาจากมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพหรือกิจการ
ต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ลดภาระกับประชาชนในการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 นี้ และมีใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.ฎ. ดังกล่าว ถึง 31 ใบอนุญาต

         - หน่วยงานต้องมีการจัดเตรียมช่องทางในการจ่ายค่าธรรมเนียมฯ ให้พร้อม ทั้งนี้ การดำเนินการตาม พ.ร.ฎ ดังกล่าวนั้น หน่วยงานยังต้องยึดหลักของกฎหมายเดิมไว้ เช่น การกำหนดให้ต้องต่ออายุใบอนุญาตก่อนวันหมดอายุใบอนุญาต เป็นต้น

         การเสวนา เรื่อง “แนวทางการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินการให้กับหน่วยงานในส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.ฎ.การกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตฯ”

         โดย ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้มาเน้นย้ำการดำเนินการของหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ได้มีการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องคกรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการให้บริการประชาชน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย
         1) เภสัชกรหญิงสุภาวดี ธีระวัฒน์สกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
         2) นายวุฒิทัต ตันติเวสส ผู้อำนวยการกองความปลอดภัยธุรกิจน้ำมัน กรมธุรกิจพลังงาน
         3) นายสุพจน์ อาลีอุสมาน รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข กรมอนามัย
         4) นายธนาคม ฐานนันทน์ หัวหน้ากลุ่มงานมาตรฐานและระเบียบการทะเบียนทั่วไป สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง

         การเสวนาพิเศษ เรื่อง “การบริการยุค New Normal” โดย
         1) นายนิรันดร์ ประวิทย์ธนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท เอวา แอดไวเซอรี่ จำกัด

         - กล่าวถึงการดำเนินการของภาครัฐว่า อาจจะมีการนำ ai หรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ประโยชน์ได้ช่วยทำให้การบริการดีขึ้น โดย ai ได้ช่วยลดภาระของบุคลากรในการทำงานที่ซ้ำซ้อน และช่วยประหยัดต้นทุนการดำเนินการในอนาคต รวมถึงได้ช่วยเพิ่มความพึงพอใจในการให้บริการมากขึ้น และปัจจุบันท้องถิ่นอาจเริ่มดำเนินการพัฒนาบริการภาครัฐ โดยการนำด้วยเทคโนโลยีมาใช้อาจไม่จำเป็นต้องเริ่มสร้างใหม่ทั้งหมด แต่สามารถนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วเข้ามาใช้ประโยชน์ของซอฟท์แวร์ที่มีอยู่แล้วมาใช้ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายลงได้ค่อนข้างมาก

         2) นายชัชนาท จรัญวัฒนากิจ Chief Marketing Officer และผู้ร่วมก่อตั้ง Seekster

         - การนำเทคโนโลยี รวมถึง e-Commerce เข้ามาใช้ได้ช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น เห็นได้จากสถานการณ์โควิดการมีระบบออนไลน์รองรับถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องมีเพื่อให้ทันยุคทันสถานการณ์ และในการยกระดับการบริการภาครัฐ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้นั้นจะทำให้ภาครัฐได้ข้อมูลมาวิเคราะห์ ตอบโจทย์ปัญหาที่ตรงใจประชาชนได้ เริ่มได้ด้วยการจับมือกันกับ start up ใหม่ๆ

         ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดกิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมชมเป็นจำนวนมาก สำนักงาน ก.พ.ร. จึง จะได้มีการรวบรวมคำถาม-คำตอบในประเด็นที่เป็นข้อสงสัย รวมทั้ง เผยแพร่คลิปการจัดกิจกรรมดังกล่าวผ่าน ช่อง youtube ของสำนักงาน ก.พ.ร. ต่อไป