การพัฒนาการยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ของกรุงเทพมหานคร แบบ Fully Digital ผ่านระบบ Biz Portal

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม 2564 เวลา 14.30 น. นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. พร้อมด้วยนางสาวอภิณห์พร อังคกมลเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลดิจิทัล ได้ประชุมหารือร่วมกับนายประสพสุข พิมพโกวิท รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร และคณะ เกี่ยวกับการพัฒนาการยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแบบ Fully Digital ผ่านระบบ Biz Portal

         นายประสพสุข พิมพโกวิท ได้กล่าวถึงทิศทางการพัฒนางานบริการทั้งหมดของกรุงเทพมหานครกว่า 102 งานบริการเข้าสู่การให้บริการผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งได้มีการวางแนวทางพัฒนาระบบศูนย์รับคำขออนุญาตของกรุงเทพมหานคร (BMS OSS) ครอบคลุมตั้งแต่การยื่นคำขอ การชำระค่าธรรมเนียม ไปจนถึงการออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2565

         สำหรับการยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ปัจจุบันเปิดให้บริการผ่านระบบ Biz Portal ในพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นเพียงการยื่นคำขอผ่านออนไลน์เท่านั้น ดังนั้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จึงได้มีการยกระดับการให้บริการให้ครอบคลุมการชำระค่าธรรมเนียมออนไลน์ และการออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติม เพื่อให้บริการแบบดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ (Fully Digital)

         โดยแบ่งระยะของการพัฒนาร่วมกับกรุงเทพมหานคร ออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 ให้บริการผ่านระบบ Biz Portal ตลอดกระบวนการ กล่าวคือ ผู้ประกอบการยื่นคำขอ ติดตามสถานะ รับแจ้งให้ชำระค่าธรรมเนียมและชำระค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางออนไลน์ และรับใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ Biz Portal โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตจะเข้ามาพิจารณาดำเนินการต่าง ๆ ผ่านระบบ Biz Portal เช่นเดียวกัน ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2564 นี้ ระยะที่ 2 เมื่อระบบ BMA OSS พัฒนาแล้วเสร็จ จะเปลี่ยนเป็นการให้บริการผ่านระบบ Biz Portal ที่ได้เชื่อมโยงไปยังระบบ BMA OSS กล่าวคือผู้ประกอบการยังคงยื่นคำขอและดำเนินการได้ตามเดิม แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตจะให้บริการจากระบบ BMA OSS

         การพัฒนาการยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผ่านระบบ Biz Portal เป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเข้าถึงงานบริการของภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล ที่สะดวก รวดเร็ว และลดการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งการพัฒนาเพื่อให้บริการในระยะที่ 1 มีกำหนดแล้วเสร็จและนำขึ้นให้บริการได้ภายในปี พ.ศ. 2564 นี้