การประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 3/2564

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.30 น. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีการรับทราบและพิจารณาในวาระต่าง ๆ ดังนี้

         1. รับทราบความก้าวหน้าใน 2 เรื่อง ได้แก่

             1.1 ร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในคราวประชุมเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการ/คณะอนุกรรมการ ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการฯ มีข้อสังเกตสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางปฏิบัติ เช่น การสร้างมาตรฐาน ความปลอดภัย และการยอมรับการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ การยืนยันตัวตนสำหรับดำเนินธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การบูรณาการแอปพลิเคชันระหว่างหน่วยงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้รับบริการ ซึ่ง อ.ก.พ.ร.ฯ เห็นว่า จะต้องเตรียมความพร้อมในรายละเอียดและวิธีการให้กับหน่วยงานไปปฏิบัติ โดยเฉพาะการจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้หน่วยงาน 4 หน่วยงานร่วมดำเนินการ ซึ่งอาจต้องออกแบบรูปแบบการทำงานร่วมกันเพื่อจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่ร่างพระราชบัญญัติฯ มีผลบังคับใช้

             1.2 รายงานผลการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ซึ่งปัจจุบันสำนักงาน ก.พ.ร. ได้เสนอรายงานติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขฯ ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานสามารถให้บริการในรูปแบบ e-Service ได้ต่อไป ซึ่ง อ.ก.พ.ร.ฯ เห็นว่าหน่วยงานจะต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการต่าง ๆ ตามประกาศหลายฉบับ เพื่อให้ดำเนินการได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย สำหรับการแก้ไขในกลุ่มที่ยังไม่แล้วเสร็จ อาจประสานกับคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการอื่นช่วยเร่งรัดติดตามได้ เช่น คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน

         2. พิจารณาเห็นชอบข้อเสนอการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นรัฐบาลตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอจำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ การผลักดันให้เกิดการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) การพัฒนาและต่อยอดการให้บริการงานบริการในรูปแบบดิจิทัล การออกแบบระบบกลางเพื่อสนับสนุนงานบริการตามประเด็น (Agenda) ที่สำคัญ การศึกษาระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางดิจิทัลที่เหมาะสม และการจัดทำ Sandbox ในการปลดล็อกด้านกฎหมายและกฎระเบียบ ซึ่ง อ.ก.พ.ร.ฯ มีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเสนอทั้ง 5 เรื่องเพื่อให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำไปพิจารณาประกอบการดำเนินการต่อไป ดังนี้

             1) การพัฒนา open service ให้ประชาชนเข้ารับบริการได้ในช่องทางใดก็ตามภายใต้ระดับความปลอดภัยที่เหมาะสมของการยืนยันตัวตนกับงานบริการนั้น รวมทั้งการกำหนด API กลางสำหรับ service ในประเภทที่จำเป็น เช่น ธุรกิจร้านอาหาร โดยไม่ต้องรอการพิจารณาอนุญาตผ่าน API ของแต่ละใบอนุญาต ตลอดจนการพิจารณาอนุญาตโดยอัตโนมัติ (Autonomous) หากผ่านหลักเกณฑ์หรือคุณสมบัติ เพื่อลดความซับซ้อนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต นอกจากนี้ยังควรต้องพัฒนา open data ควบคู่กันเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์ร้องขอข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐได้ รวมทั้งพัฒนาข้อมูลที่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลแต่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะ และการบริหารเชิงนโยบายในลักษณะ Dashboard ได้ ทั้งนี้ การพัฒนาข้อมูลที่เป็น open data ของภาครัฐสามารถใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนการพิจารณาอนุญาตได้ เช่น ผังเมืองอิเล็กทรอนิกส์

             2) งานบริการตาม Agenda สำคัญ เช่น NSW จะมีกระบวนการในบางใบอนุญาตที่จะต้องตรวจสอบการดำเนินการ ณ สถานที่ตั้งของผู้ประกอบการ ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาดิจิทัลเต็มรูปแบบ นอกจากนี้การจัดทำ Sandbox สำหรับการดำเนินการทางดิจิทัล สามารถทดลองในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกก่อนได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่ในความรับผิดชอบตามกฎหมายเฉพาะ แล้วจึงขยายผลไปในพื้นที่หรืองานบริการอื่นที่มีความพร้อมได้

             3) การขับเคลื่อนไปสู่รัฐบาลดิจิทัลให้เกิดผลสำเร็จ หน่วยงานจะต้องปรับปรุงกระบวนงาน (Reprocess) ให้เป็นดิจิทัล โดยมิใช่เพียงการปรับเปลี่ยนจากการใช้กระดาษแล้วนำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนเท่านั้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับทั้งผู้รับบริการในเรื่องความรวดเร็วและความสะดวกและผู้ให้บริการที่จะสามารถลดระยะเวลาการให้บริการจากกระบวนงาน/ขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ซึ่งสามารถนำไปกำหนดข้อตกลงระดับการให้บริการ (SLA)

             4) การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจกับผู้รับบริการทั้งผู้ประกอบการและประชาชน เป็นเรื่องจำเป็นที่จะทำให้ผู้รับบริการใช้บริการในรูปแบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงควรกำหนดว่าเรื่องใด หรือมาตรฐาน หลักเกณฑ์ใดที่ควรสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานและความปลอดภัยในการรับบริการเพิ่มมากขึ้น