สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมร่วม คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) และคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 13.30 น. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมร่วม คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) และคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาประเด็นการจัดทำแผนจังหวัดและกลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาภาค สรุปสาระสำคัญของการประชุมได้ดังนี้

         1. นโยบาย หลักเกณฑ์ วิธีการจัดทำแผนจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2566 – 2570

             - ที่ประชุมให้ความเห็นชอบนโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำแผนพัฒนา ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566 – 2570 หลักเกณฑ์การจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปี แนวทางการกำหนดกรอบการจัดสรรงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ในวงเงิน 28,000 ล้านบาท หลักเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงโครงการตามแผนปฏิบัติราชการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่ทำให้เกิดความรวดเร็วและคล่องตัวยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนฯ ให้ยึดยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ร่างกรอบแผนพัฒนาภาค และแนวนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล เชื่อมโยงสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาระดับพื้นที่ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ได้กำหนดให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดสรุปรายการโครงการ กิจกรรม และงบประมาณที่ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พร้อมทั้งผลผลิต ผลสัมฤทธิ์ และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการ ในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ภายใน 30 วันหลังสิ้นสุดปีงบประมาณ

         2. ร่างกรอบแผนพัฒนาภาค พ.ศ. 2566 – 2570 และหลักเกณฑ์การจัดทำแผนปฏิบัติการภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2570

             - ที่ประชุมให้ความเห็นชอบร่างกรอบแผนพัฒนาภาค พ.ศ. 2566 – 2570 เป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดทำร่างกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำข้อเสนอโครงการของส่วนราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีจุดเน้นในแผนพัฒนาภาคของแต่ละภาค เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการภาค แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รวมทั้งเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดทำแผนปฏิบัติการภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2570

         3. ปฏิทินการดำเนินงานภายใต้กลไก ก.บ.ภ.ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565

             - กำหนดให้ จังหวัดและกลุ่มจังหวัดจัดส่งแผนพัฒนา 5 ปี (15 ก.ย. 64) และจัดส่งแผนปฏิบัติราชการประจำปี พ.ศ. 2566 (30 ก.ย. 64) ก.บ.ภ. และ ก.น.จ. จะประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนพัฒนา 5 ปี /แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด /แผนปฏิบัติการภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ต้นเดือนธันวาคม 2564)

         4. การสนับสนุนงบประมาณเพื่อชำระเงินประกันค่าธรรมเนียมให้สถาบันอนุญาโตตุลาการในการฟ้องคดี โครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1

             - หลักการและแนวทางปฏิบัติของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด กรณีการชำระเงินประกันค่าธรรมเนียมให้สถาบันอนุญาโตตุลาการในการฟ้องคดีจากการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยให้ใช้เงินเหลือจ่ายชำระเงินประกันค่าธรรมเนียมให้สถาบันอนุญาโตตุลาการในการฟ้องคดีโครงการของกลุ่มจังหวัดได้ ให้หัวหน้ากลุ่มจังหวัดนำเสนอคำขอเปลี่ยนแปลงโครงการ (ผ่าน ก.บ.ก.) เพื่อขอความเห็นชอบจากประธาน อ.ก.บ.ภ. ที่กำกับดูแลภาค รวมทั้งกำหนดเป็นหลักการและแนวทางปฏิบัติของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด กรณีการชำระเงินค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการ ตลอดจนค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ ตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาท เฉพาะโครงการที่ดำเนินการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และมีการกำหนดในสัญญาก่อนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดนำเงินเหลือจ่ายไปชำระเงินประกันค่าธรรมเนียมดังกล่าวได้

         5. การขอโอนเปลี่ยนแปลงโครงการเพื่อชดเชยเงินถูกพับไปของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

             - กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดสำรวจกรณีปัญหาเงินถูกพับไป กรณีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 – 2563 ที่ถูกพับไป ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้หารือกรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณแล้ว ให้นำงบประมาณเหลือจ่ายหรือการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายมาดำเนินการได้ โดย
ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการและแนวทางปฏิบัติการขอโอนเปลี่ยนแปลงโครงการเพื่อชดเชยเงินถูกพับไปของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด กรณีงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ให้สามารถใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายปีปัจจุบันได้ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือหัวหน้ากลุ่มจังหวัดนำเสนอคำขอเปลี่ยนแปลงโครงการ (ผ่าน ก.บ.จ./ก.บ.ก.) มายังฝ่ายเลขานุการ ก.บ.ภ. ภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 และเสนอขอความเห็นชอบจากประธาน อ.ก.บ.ภ.ที่กำกับดูแลภาคต่อไป สำหรับการชดเชยเงินที่ถูกพับไปจากการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี พ.ศ. 2557 – 2561 ซึ่งอยู่ภายใต้กลไก ก.น.จ. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและทีมบูรณาการกลางประชุมหารือร่วมกัน เพื่อพิจารณาหาแนวทางต่อไป

         6. การปรับปรุงตัวชี้วัดการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

             - สศช. รายงานการทบทวนปรับปรุงให้ตัวชี้วัดการพัฒนาในระดับพื้นที่มีความสอดคล้องเชื่อมโยงเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตัวชี้วัดระดับนานาชาติเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับพื้นที่จังหวัด รวมถึงการนำตัวชี้วัดมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องมารวมด้วยบางตัว เช่น ดัชนีวัดความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index : HAI) โดยแยกเป็น

               - ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัด (32 ตัวชี้วัด) จัดกลุ่มข้อมูลตัวชี้วัดตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 5 มิติ (5P) ได้แก่ มิติการพัฒนาคน (7 ตัวชี้วัด) (People) มิติสิ่งแวดล้อม (5 ตัวชี้วัด) (Planet) มิติเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (11 ตัวชี้วัด) (Prosperity) มิติสันติภาพและยุติธรรม (5 ตัวชี้วัด) (Peace) และมิติความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (4 ตัวชี้วัด) (Partnership)
               - ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับกลุ่มจังหวัด (15 ตัวชี้วัด) มีประเด็นการพัฒนา 2 มิติ ได้แก่ด้านเศรษฐกิจ (11 ตัวชี้วัด) (Growth & Competitiveness) และด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (4 ตัวชี้วัด) (Inclusive & Green Growth)
               - จังหวัดและกลุ่มจังหวัดสามารถนำไปเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และใช้ในการกำหนดค่าเป้าหมายของการปฏิบัติงานของส่วนราชการในภูมิภาค ภายใต้กำกับของจังหวัดได้ ซึ่ง สศช. จะเผยแพร่ผ่าน Website สศช.ภายใต้หัวข้อ ก.บ.ภ. ต่อไป