สำนักงาน ก.พ.ร. จัดกิจกรรมประชุมสัมมนา “รวมพลังคนรุ่นใหม่ ไม่ทนต่อการทุจริต”

แชร์หน้านี้


         สำนักงาน ก.พ.ร. จัดกิจกรรมประชุมสัมมนา “รวมพลังคนรุ่นใหม่ ไม่ทนต่อการทุจริต” ในวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.00 - 16.30 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยได้รับความร่วมมือจากข้าราชการบรรจุใหม่และเจ้าหน้าที่รัฐ (รับราชการ/ปฏิบัติงาน ไม่เกิน 2 ปี) จากส่วนราชการต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 118 คน

         นางสาววิริยา เนตรน้อย ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม โดยกล่าวว่า การทุจริตส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของระบบราชการ การที่ข้าราชการเป็นคนดีจะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบราชการและหน่วยงานภาครัฐ และเป็นหน้าที่ของข้าราชการทุกคนที่ต้องดำเนินการต่อต้านการทุจริตและเสริมสร้างการทำงานให้โปร่งใส มีคุณธรรม จริยธรรม ข้าราชการรุ่นใหม่ต้องไม่ทนต่อการทุจริตและเห็นว่าการทุจริตเป็นเรื่องน่ารังเกียจ
ถ้าทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน จะทำให้ ค่า CPI ของประเทศไทยดีขึ้น

         รศ. ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และกรรมการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย ได้กล่าวถึง

         การคอร์รัปชัน มี 8 รูปแบบ ได้แก่

             1. คอร์รัปชันขนาดใหญ่ เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงที่บิดเบือนนโยบายหรือใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ
             2. คอร์รัปชันขนาดเล็ก เกิดขึ้นจากกลุ่มของเจ้าหน้าที่ระดับกลางและระดับล่างต่อประชาชนทั่วไป
             3. การติดสินบน เป็นการเสนอ การให้ หรือสัญญาว่าจะให้สิ่งตอบแทนต่าง ๆ
             4. การยักยอก เป็นการนำทรัพย์สินของราชการไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
             5. การอุปถัมภ์ เป็นการเล่นพรรคพวก หรือการใช้สายสัมพันธ์การเมือง (connection)
             6. การเลือกที่รักมักที่ชัง เป็นการที่เจ้าหน้าที่รัฐจะให้ผลประโยชน์แก่เพื่อน ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด
             7. ผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมและส่วนตัว
             8. การทุจริตเชิงนโยบาย เป็นการทุจริตผ่านการใช้นโยบายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

         การคอร์รัปชันประกอบด้วยกลุ่มคน 3 ประเภทที่มีความสัมพันธ์กัน คือ ข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจ

             1. นักการเมือง ต้องการฐานอำนาจและโครงการของรัฐ โดยให้ตำแหน่งแก่ข้าราชการ
             2. ข้าราชการ เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการทุจริต เพราะต้องการประโยชน์ อำนาจ หรือการเลื่อนตำแหน่ง และให้ความช่วยเหลือนักการเมือง
             3. นักธุรกิจ ต้องการผูกขาดธุรกิจ หาผลประโยชน์เพื่อความร่ำรวย โดยให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ข้าราชการและนักการเมือง

         สถานการณ์การคอร์รัปชันของไทย

         รายงานผลการจัดอันดับค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index: CPI) ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง โดยปี พ.ศ. 2563 อยู่อันดับที่ 104 จากการจัดอันดับทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนน 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน และเป็นอันดับที่ 5 ของอาเซียน

         หน่วยงาน Transparency International รายงานผลการประเมินและจัดอันดับค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) โดยประมวลผลจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่ง ได้แก

             1. BF-TI Bertelmann Foundation Transformation Index (การปราบปรามการทุจริตและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด)
             2. EIU Economist Intelligence Unit Country Risk Rating (ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ)
             3. GI Global Insight Country Risk Rating (การดำเนินการทางธุรกิจต้องเกี่ยวข้องกับการทุจริตมากน้อยเพียงใด)
             4. PERC Political and Economic Risk Consultancy (ระดับการรับรู้ว่าการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันต่าง ๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง มากน้อยเพียงใด)
             5. PRS Political Risk Services International Country Risk Guide (มีอำนาจหรือตำแหน่งทางการเมืองมีการทุจริตโดยใช้ระบบอุปถัมภ์และระบบเครือญาติ และภาคการเมืองกับภาคธุรกิจมีความสัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด)
             6. WEF World Economic Forum Executive Opinion Survey (ภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด)
             7. WJP World Justice Project Rule of Law Index (เจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด)
             8. V-DEM Varieties of Democracy Project (การทุจริตในภาครัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ เกี่ยวกับสินบน การขัดกันระหว่างงผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวมมากน้อยเพียงใด)
             9. IMD World Competitiveness Yearbook การติดสินบนและการทุจริตมีอยู่หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด

         มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัดทำดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (Corruption Situation Index: CSI) ซึ่งเป็นการสำรวจใน 3 ประเด็น ได้แก่ ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ทัศนคติและจิตสำนึกของคนในสังคมต่อการทุจริตคอร์รัปชัน และประสิทธิภาพการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ผลการสำรวจประจำปี 2563 และได้ประกาศผลในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ในภาพรวมของดัชนี CSI มีสถานการณ์แย่ลง และรูปแบบการทุจริตที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ (1) การให้สินบนของกำนัล หรือรางวัลต่าง ๆ (2) การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง (ฮั้วประมูล) และ (3) การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก

         สาเหตุสำคัญของการเกิดทุจริตในประเทศไทย 3 อันดับแรก คือ (1) ความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบ (2) กฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลยพินิจที่เอื้อต่อการทุจริต และ (3) กระบวนการทางการเมือง ขาดความโปร่งใส และตรวจสอบได้ยาก

         ผลกระทบจากการทุจริต ได้แก่

         - ลดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ
         - อัตราเจริญเติบโตของประเทศ (GDP) เติบโตช้า
         - ลดทอนรายได้ของภาครัฐที่จะนำมาเพื่อการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
         - เกิดช่องว่างด้ายรายได้ระหว่าง “คนรวย” กับ “คนจน” ขยายตัวมากขึ้น
         - ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศน์ถูกทำลายอย่างรุนแรง
         - เกิดกการสั่นคลอนทางการเมืองการปกครองของประเทศ

        ศ.ดร. อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวถึงผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับต้นแบบประสิทธิภาพในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการของประเทศไทยและของต่างประเทศ ที่มีการจัดทำขึ้นในปี 2564 สรุปได้ ดังนี้
        การตรวจสอบความโปร่งใสจะต้องมีการบูรณาการจากหลายหน่วยงาน และมีการนำแนวคิด Digital Democracy ที่ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น ร้องเรียน และแจ้งเบาะแสการทุจริตได้ อันจะนำไปสู่การเป็น e-Government ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
       - การขับเคลื่อนรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ช่วยลดปัญหาการคอร์รัปชัน ลดงบประมาณภาครัฐ และประชาชนสามารถสื่อสารกันได้ง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงกัน
       - ตัวอย่างที่ดีจากต่างประเทศในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (Best Practice)
       - สิงคโปร์: มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างต่อเนื่อง
       - ไต้หวัน: ใช้แนวคิด Digital Democracy โดยมีแพลตฟอร์มกลางให้ประชาชน ผู้เชี่ยวชาญ และภาครัฐได้ร่วมกันออกนโยบายร่วมกัน
       - สหรัฐอเมริกา: พัฒนาระบบตรวจสอบสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมกัญชา ตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภค ด้วยการใช้เทคโนโลยี Blockchain
       - สวีเดน และบราซิล: ใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการบันทึกข้อมูลของที่ดินและอสังหาริมทรัพย์

       กิจกรรม Workshop ได้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา ยกกรณีศึกษาการทุจริตที่เกิดขึ้น พร้อมแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งในมุมมองของคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ควรนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน มีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐสู่สาธารณะ และมีการนำระบบ Digital Democracy เข้ามาประยุกต์ใช้