สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมชี้แจงกรอบแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

แชร์หน้านี้


         สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมชี้แจงกรอบแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เมื่อวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.30 น. ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมี รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางนันทนา ธรรมสโรช) เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และนางศิริเนตร กล้าหาญ ผอ.กองติดตาม ตรวจสอบฯ ชี้แจงแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีผู้แทนส่วนราชการเข้าร่วม 667 คน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

         1. การปรับแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ 2564 : ให้มีการยกเว้นการประเมินผลในลักษณะของการจัดอันดับ (Ranking) เป็นคะแนน (คุณภาพ มาตรฐาน ปรับปรุง) เช่นเดียวกับปีงบประมาณ 2563 โดยให้ส่วนราชการรายงานผลการดำเนินงานเพื่อติดตามจัดเก็บข้อมูลไว้เทียบเคียงกับปีงบประมาณถัดไป และจัดทำรายงานถอดบทเรียนการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของส่วนราชการต่อไป
         2. ร่างแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 : โดยมีองค์ประกอบการประเมินเช่นเดียวกับปี 2564 คือ การประเมินประสิทธิผลการดำเนินงาน (Performance Base) และการประเมินศักยภาพในการดำเนินงาน (Potential Base) โดยมีจุดเปลี่ยนและจุดมุ่งเน้นของการประเมินส่วนราชการฯ ปี 2565 ดังนี้

             (2.1) ปรับแนวทางการประเมินฯ โดยมุ่งเน้นให้กระทรวงมีบทบาทหลักในการพิจารณากำหนดตัวชี้วัดและติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของกระทรวงและส่วนราชการในสังกัดกระทรวง

             (2.2) กลไกระดับกระทรวง คือ คณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวง มีบทบาทในการกำหนดตัวชี้วัด ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานภายในกระทรวง

             (2.3) การกำหนดตัวชี้วัดพิจารณาจากประเด็นสำคัญในการบูรณาการและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และแผนระดับชาติอื่น ๆ และเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการให้บริการแบบ e-Service ใน Agenda สำคัญ

             (2.4) ให้ความสำคัญกับการกำหนดตัวชี้วัดเพื่อขับเคลื่อนการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกระทรวง (Joint KPIs) ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล ทั้งร่วมกันภายในกระทรวง และข้ามกระทรวง รวมถึงระหว่างกระทรวงกับองค์การมหาชน

             (2.5) การพัฒนาองค์การสู่ดิจิทัล เพื่อรองรับการทำงานแบบ New Normal และประเมินสถานะของหน่วยงานฯ ในการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0)

             (2.6) เชื่อมโยงการประเมินหน่วยงานกับระบบการประเมินบุคคล โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสำนักงาน ก.พ.

          ขณะนี้ ทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว สำนักงาน ก.พ.ร. อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา