กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา พร้อมขับเคลื่อนการให้บริการ “การลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยยังชีพความพิการ” ในระบบ Citizen Portal ร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. นำโดย รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) นำโดย รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (นางสาวอภิณห์พร อังคกมลเศรษฐ์) และนายอาศิส อัญญะโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาดิจิทัลโซลูชันส์ ได้ประชุมหารือร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ในการพัฒนางานบริการ “การลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยยังชีพความพิการ” สำหรับให้บริการในระบบ Citizen Portal

         ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (นายธีรยุทธ สำราญทรัพย์) ได้ชี้แจงถึงแนวทางและแผนการดำเนินการในการพัฒนางานบริการเพื่อประชาชนที่กรมฯ กำลังดำเนินการในหลายส่วน โดยเฉพาะ การลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยยังชีพความพิการ ที่กรมฯ กำลังมีการปรับเปลี่ยนระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมุ่งเน้นเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์สูงสุด อาทิ การปรับเปลี่ยนเกณฑ์การรับเบี้ยยังชีพให้มีความเหมาะสม เช่น ถึงแม้ว่าผู้สูงอายุจะได้รับสวัสดิการอื่น ๆ จากรัฐ แต่หากเงินสวัสดิการดังกล่าวไม่เพียงพอหรือมีความจำเป็นอย่างอื่น ก็ให้สามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเร่งดำเนินการ โดยในอนาคตมีแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงความต้องการและความจำเป็นที่แท้จริงของประชาชนเป็นรายบุคคลให้ได้มากที่สุด

         ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำเสนอผลการศึกษาการพัฒนางานบริการ “การลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยยังชีพความพิการ” เพื่อให้บริการในระบบ Citizen Portal โดยให้ข้อเสนอถึงการให้บริการดังกล่าวในมิติ “รู้ ยื่น จ่าย รับ” และนำเสนอตัวอย่างประสบการณ์ผู้ใช้งาน (User Journey) ของงานบริการ ที่ง่ายและเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ใช้บริการผ่านระบบ Citizen Portal โดยในระยะสั้น จะพัฒนางานบริการในมิติ “รู้ เชิงรุก” เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามสถานะของการให้บริการ และทราบถึงข้อมูลต่าง ๆ ของงานบริการดังกล่าว ได้ง่าย ๆ ผ่านระบบ Citizen Portal ในระยะกลาง จะเป็นการพัฒนาระบบการลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพฯ เพื่อให้ประชาชนสามารถยื่นคำขอได้ผ่านแอฟพริเคชันทางรัฐได้ ส่วนในระยะยาว จะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนและหน่วยงานในการให้บริการประชาชน ซึ่งในเบื้องต้น กรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบบริการเบี้ยยังชีพฯ ที่เชื่อมต่อกับกรมบัญชีกลางในการเบิกจ่ายงบประมาณอยู่แล้ว จึงมีความพร้อมด้านข้อมูลสำหรับเชื่อมต่อในการให้บริการในระบบ Citizen Portal แต่ในส่วนของกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ใช้ระบบของกรมบัญชีกลางในการเบิกจ่ายงบประมาณ สำนักงาน ก.พ.ร. จึงมีข้อเสนอใน 3 แนวทาง เพื่อที่จะสามารถพัฒนางานบริการให้สามารถให้บริการประชาชนได้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ คือ

         1) กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา พัฒนาระบบฐานข้อมูลของตนเองเพื่อเชื่อมต่อสำหรับการให้บริการในระบบ Citizen Portal แต่จำเป็นต้องใช้งบประมาณและระยะเวลาค่อนข้างมากในการพัฒนา

         2) ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลของกรมบัญชีกลาง โดยให้ สพร. ในฐานะหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ในการพัฒนาพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน ดึงข้อมูลจากกรมบัญชีกลางและจัดเก็บข้อมูลไว้ที่ สพร. สำหรับให้บริการประชาชนผ่าน Citizen Portal ได้ ซึ่งจะทำให้สามารถให้บริการได้ครอบคลุมและข้อมูลมีความถูกต้อง

         3) ให้ สพร. สร้างระบบฐานข้อมูลสำหรับให้ทั้ง 3 หน่วยงาน ส่งข้อมูลสำหรับให้บริการแก่ประชาชนมายัง สพร. แต่ทางเลือกนี้ จะทำให้หน่วยงานต้องส่งข้อมูลไปทั้งกรมบัญชีกลาง และ สพร. ด้วย

         ในการนี้ กรุงเทพมหานคร โดยหัวหน้าศูนย์ข้อมูลและสารสนเทศ สำนักพัฒนาสังคม (นายจิติวัฒน์ จึงสมประสงค์) และเมืองพัทยา โดยผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (นางสาวพรรณี ลิ้มเจริญ) และผู้อำนวยการส่วนสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม (นางสาวธีราภรณ์ ศรีจันทร์) มีความเห็นตรงกันว่า แนวทางที่เหมาะสมและเป็นไปได้มากที่สุด คือ แนวทางที่ 2) ที่ให้ สพร. ในฐานะหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ในการพัฒนาพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน ดึงข้อมูลจากกรมบัญชีกลางและจัดเก็บข้อมูลไว้ที่ สพร. สำหรับให้บริการประชาชนผ่าน Citizen Portal ทั้งนี้ สพร. แจ้งว่าการดำเนินการดังกล่าวสามารถทำได้ และจะทำให้ข้อมูลมีความถูกต้อง มีความปลอดภัย และสามารถดำเนินการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้ ที่ประชุมจึงมีมติในการที่จะพัฒนางานบริการตามแนวทางดังกล่าว และขอให้สำนักงาน ก.พ.ร. ประสานงานเพื่อนัดหมายให้ทุกหน่วยงานเข้าหารือกับกรมบัญชีกลางต่อไป

         นอกจากนี้ เมืองพัทยา ในฐานะผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาการให้บริการ เช่น การที่ประชาชนย้ายที่อยู่ จำเป็นต้องแจ้งของรับเบี้ยยังชีพ ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ที่ตนย้ายเข้า หากไม่มีการแจ้งก็จะเสียสิทธิในการรับเบี้ยยังชีพต่อเนื่องในปีถัดไป หรือการพัฒนาระบบดิจิทัลให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนได้โดยอัตโนมัติ เมื่อมีอายุถึงตามสิทธิ์หรือเข้าเกณฑ์ตามที่กำหนด อันจะเป็นการอำนวยความสะดวกและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน


กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ