ระดมไอเดียภาคเอกชนพัฒนาแนวทางตรวจสอบกิจการ พร้อมขับเคลื่อนสู่รัฐบาลดิจิทัล

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. นำโดยนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. พร้อมด้วยนางสาวนภนง ขวัญยืน ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมบริการภาครัฐ นายณัฏฐา พาชัยยุทธ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน ซึ่งประกอบด้วยสมาคมภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ 13 แห่ง รวมถึงนักวิชาการ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีประเด็นความคิดเห็นที่น่าสนใจจากที่ประชุม ดังนี้

         1. การกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการตรวจสอบการประกอบกิจการหรือดำเนินกิจการตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558

             - การกำหนดแนวทางการตรวจสอบกิจการ โดยพิจารณาจากระดับความเสี่ยงของผลกระทบในการดำเนินการ เป็นเรื่องที่มีความเหมาะสม โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย หรือความเสี่ยงปานกลาง อาจใช้การตรวจสอบกิจการได้ด้วยตนเอง (Self-Declaration) อย่างไรก็ตามควรกำหนดนิยามของประเภทความเสี่ยงเพื่อนำไปจัดกลุ่มกิจการที่มีความชัดเจน และนิยามดังกล่าวต้องสามารถใช้ได้ครอบคลุมทุกประเภทของกิจการ รวมถึงควรมีรายละเอียดที่ชัดเจนเพื่อสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วย

             - แนวคิดการตรวจสอบมาตรฐานต่าง ๆ ที่จะถ่ายโอนให้ภาคเอกชน บางหน่วยงานไม่มีศักยภาพเพียงพอในการตรวจสอบ อีกทั้งยังมีการเก็บค่าธรรมเนียมที่ซ้ำซ้อน ทำให้เป็นภาระกับผู้ประกอบการ รวมถึง ควรทบทวนว่าระบบการตรวจสอบมีมากเกินไปหรือไม่ เช่น การนำเข้าสินค้าต้องมีการตรวจสอบทุกชิ้น ดังนั้นควรมีการทบทวนว่าอะไรที่มีความจำเป็นในการตรวจสอบ อะไรที่ตรวจสอบเกินความจำเป็น เป็นภาระของผู้ประกอบการ ควรมีการยกเลิก

             - ปัญหาผู้ประกอบการมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการนำเข้าวัตถุดิบ อยากให้มีความชัดเจนในเรื่องของการกำหนด/ตีความสินค้าว่าเป็น dual use goods หรือไม่

             - ควรมีการพิจารณาใบอนุญาตที่มีความซับซ้อน เช่น ยา วัตถุอันตราย หากใช้ระเบียบเดียวกันทั้งหมดอาจจะเกิดปัญหาในเชิงปฏิบัติ

             - ปัญหาการค้าขายเมล็ดพันธุ์พืชออนไลน์ ซึ่งยังไม่มีกฎระเบียบในการดูแล ปัจจุบันพบว่ามีปัญหาผู้ค้า การขนส่ง ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการจัดเก็บ ส่งผลให้ปลายทางคือเกษตรกรได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ โดยผู้ผลิตกลับต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

             - ควรมีมุมมองในการรับฟังทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ผู้รับบริการ และหน่วยงานราชการ

         2. การพัฒนาการให้บริการผ่านระบบดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ที่ประชุมมีความเห็น ดังนี้

             - ภาครัฐควรพัฒนาฐานข้อมูลร่วมกันโดยฉพาะอย่างยิ่งฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกับการยืนยันตัวตน เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกในการไม่ต้องขอเอกสารเพิ่มเติม ยกตัวอย่างกรณีธนาคาร ซึ่งมี pain point ในเรื่องของการยืนยันตัวตน ปัจจุบันมีปัญหาฐานข้อมูลรูปภาพของประชาชนซึ่งหากมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการปกครองในเรื่องของการ Verify หน้าตา ก็จะสามารถใช้ยืนยันตัวตนได้

            - การพัฒนาบริการภาครัฐให้เป็นดิจิทัล ควรที่จะต้องคิดให้เป็นดิจิทัลด้วย เช่น การเปิดให้มีขออนุญาตผ่านช่องทางออนไลน์ได้ แบบ 7 วัน 24 ชั่วโมง ซึ่งไม่ควรปิดระบบในเวลาราชการ เป็นต้น

            - การพัฒนาระบบการบริการภาครัฐของประเทศไทยอาจเริ่มจากระบบเล็กๆ เช่น
การต่อบัตรประชาชนออนไลน์โดยไม่ต้องเดินทางไปทำที่สำนักงานเขต/ที่ทำการ เป็นต้น และควรพิจารณาถึงการเชื่อมโยงระบบเล็กๆ กับระบบอื่นให้สามารถเชื่อมต่อกันได้ในอนาคตด้วย เพื่อลดรูปแบบการทำงานแบบ silo

            - การเตรียมความพร้อมของหน่วยงานในแง่ของอุปกรณ์ในการทำงานที่จะรองรับการทำงานแบบ work from home เนื่องจากพบว่าเจ้าหน้าที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัว รวมถึงการใช้อีเมลล์ส่วนตัว ซึ่งทำให้ภาคเอกชนกังวลในเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล

           - การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มา ใชัพัฒนางาน เช่น blockchain โดยอาจเริ่มจากบางกลุ่มงานบริการก่อน

           - การแก้ปัญหากฎระเบียบที่ล้าสมัย เช่น การขออนุญาตใช้โดรนที่ปัจจุบันได้นำมาใช้ประโยชน์กับการทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกษตรกรมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้มีใบอนุญาต 1 คน ต่อ 1 เครื่อง จะสามารถปรับเปลี่ยนโดยเทียบกับการออกใบขับขี่ได้หรือไม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกได้มากขึ้น

           - หน่วยงานมีการพัฒนาแอปพลิเคชันของตัวเอง แต่ยังมีลักษณะต่างคนต่างทำ แต่หลังบ้านไม่เชื่อมต่อกัน แม้ว่าจะเป็น หน่วยงานเดียวกัน

         ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. จะได้นำปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะของภาคเอกชนไปหารือกลุ่มย่อยในแต่ละภาคธุรกิจต่อไป