สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุม เรื่อง “การรายงานผลการดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (Doing Business)

แชร์หน้านี้



         เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุม เรื่อง “การรายงานผลการดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (Doing Business) และ 10 ข้อเสนอ เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ 10 อันดับประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด (Ten for Ten)” ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. และผู้บริหารผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการของหน่วยงานในการยกระดับคะแนน Doing Business ในแต่ละด้าน และการดำเนินการ Ten for Ten ซึ่งพบว่า การขับเคลื่อน Doing Business ในหลายด้านมีแนวโน้มที่สามารถยกระดับคะแนนได้สูงขึ้น ได้แก่

         - ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ที่มีการลดค่าธรรมเนียมในการใช้ ระบบ e-Registration ลงร้อยละ 50 รวมทั้งการนำ e-KYC มาใช้ในการยืนยันตัวตน และการนำ AI มาใช้ ในการจองชื่อบริษัท

         - การขออนุญาตก่อสร้าง สามารถค้นหาข้อมูลการเจาะสำรวจดิน (Soil boring test) เพื่อใช้ในการวางแผนการก่อสร้างได้จาก Website ของกรมโยธาธิการและผังเมือง

         - ด้านการขอใช้ไฟฟ้า ยกเลิกการเก็บหลักประกันการใช้ไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 และ 2 และไม่มีคค่าขอใช้ไฟฟ้า กรณีใช้ผู้รับจ้างติดตั้งสายภายในที่ขึ้นทะเบียนกับ กฟน.

         - ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน ที่ที่มีการพัฒนาระบบ e-QLand เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถสอบถามค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนหรือการโอน โดยไม่จำเป็นต้องมาที่สำนักงานที่ดิน

         - ด้านการได้รับสินเชื่อ พัฒนาระบบค้นหาข้อมูลหลักประกัน ให้สามารถตรวจค้นข้อมูลการใช้ทรัพย์สินเป็นหลักประกันการชำระหนี้ทางอิเล็กทรอนิกส์ จากเลขทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ข้อมูลทรัพย์ ข้อมูลลูกหนี้ และข้อมูลผู้ให้หลักประกัน

         - ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย ยกระดับการคุ้มครองผุ้ลงทุนเสียงข้างน้อยด้วยปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับประธานกรรมการ (Chair) และผู้บริหารสูงสุด (CEO) ของบริษัทจดทะเบียนต้องไม่เป็นบุคคลเดียวกันให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ. บริษัทมหาชนฯ ให้รองรับการส่งเอกสารของบริษัทผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-meeting, e-delivery และ e-proxy) เพื่อตอบสนองความต้องการยุคดิจิทัล

         - ด้านการชำระภาษี ปรับปรุงแบบฟอร์มการกรอกภาษีให้กรอกง่ายขึ้น มีการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการตลอดกระบวนงาน และนำข้อมูลภาษีมาใช้ในจัดทำการแจ้งเตือน และป้องการความผิดพลาดที่เกิดจากการยื่นภาษีผิด นอกจากนี้รวมทั้งการขยายบริการรับชำระเงินกองทุนประกันสังคมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment)

          - ด้านการค้าระหว่างประเทศ นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้การยื่นเอกสารและการชำระภาษี และนำเทคโนโลยี x-Ray มาใช้ในการตรวจสอบสินค้าโดยไม่ต้องเปิดตู้คอนเทนเนอร์ การพัฒนาระบบ NSW ให้สามารถใช้ได้ 100% และมีมาตรการป้องกัน ที่ไม่อนุญาตให้หน่วยงานที่ไม่เชื่อมระบบ NSW กำหนดพิกัดสินค้าควบคุม ทำให้สามารถใช้ระบบ NSW ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

         - ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง ยกระดับการให้บริการทางออนไลน์ให้มีความมั่นคงปลอดภัย กำหนดให้มีขั้นตอนการไปพิสูจน์ตัวตน (Identity Proofing) ของบุคคลที่ลงทะเบียน ในระบบยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี ทางออนไลน์

         - ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย เปิดให้บริการระบบลงทะเบียนซื้อทรัพย์ล่วงหน้า เพื่อให้ผู้สนใจสามารถค้นหาทรัพย์ที่ทำการขายทอดตลาดตรวจสอบสถานะทรัพย์ที่ทำการขายทอดตลาด และลงทะเบียนซื้อทรัพย์ล่วงหน้า

          ภายหลังจากรับฟังการชี้แจงความก้าวหน้าการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว รองนายกรัฐมนตรีได้มีข้อเสนอแนะให้ทุกหน่วยงานเร่งปรับปรุงงานบริการภาครัฐให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และลดค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นปัจจัยในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้รับบริการโดยการจัดประชุมกลุ่มย่อยของผู้รับบริการในแต่ละด้านเพื่อหาแนวทางการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน พร้อมทั้งให้หน่วยงานกำหนดเป้าหมายอันดับในอนาคตโดยพิจารณาถึงการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ ด้วย



กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ