การประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ครั้งที่ 2/2564

แชร์หน้านี้



         เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้ประชุมครั้งที่ 2/2564 ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 อาคารสำนักงาน ก.พ.ร. และผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ (Zoom)โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

         ที่ประชุมได้พิจารณาวาระการประชุมที่สำคัญ ดังนี้

         1. เห็นชอบการปรับแนวทางการประเมินส่วนราชการและจังหวัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยไม่ให้เป็นภาระของส่วนราชการและจังหวัดในการแก้ไขปัญหาและให้บริการประชาชนในภาวะวิกฤตได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

         2. เห็นชอบกรอบและแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งมุ่งเน้นบทบาทของกระทรวงในการกำหนดและถ่ายทอดตัวชี้วัดสู่ระดับกรม มีกลไกการประเมินผลในรูปแบบคณะทำงานและคณะกรรมการ บูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกระทรวง (Joint KPIs) และระหว่างกระทรวงกับจังหวัด (Function-Area KPIs) มีตัวชี้วัด Monitor พัฒนาศักยภาพองค์การ และเชื่อมโยงกับการประเมินผลงานรายบุคคลของ ก.พ. และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

         3. เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกงานบริการใน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) Agenda สำคัญของประเทศ 2) งานบริการรายส่วนราชการ เพื่อพัฒนาสู่ e-Service และกำหนดเป็นตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

         4. เห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อรองรับการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบูรณาการและเชื่อมโยงการพิจารณาและจัดสรรงบประมาณในระดับพื้นที่ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

         5. เห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2564-2565) ใน 3 ประเด็น ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาบริการภาครัฐเพื่อประชาชน ยุทธศาสตร์ที่ 2 การปรับบทบาทภารกิจโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐให้ทันสมัย ยืดหยุ่น รองรับการเปลี่ยนแปลง ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานภาครัฐ ซึ่งได้มีการรกำหนดตัวชี้วัดและแนวทางการพัฒนา รวมทั้ง Flagship Project เพื่อขับเคลื่อนต่อไป