นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับรองประธานกรรมการหอการค้าไทย

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับรองประธานกรรมการหอการค้าไทย 2 ท่าน (นายสุรงค์ บูลกุล และนายภูมินทร์ หะรินสุต) นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย และผู้เข้าร่วมจากหอการค้าไทยและสมาคมธนาคารไทย พร้อมทั้ง อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ได้แก่ นายวีระ วีระกุล นายธนฉัตร วิจารณ์ปรีชา และนายสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท โดยสามารถจำแนกความเห็นออกได้เป็น 2 ประเด็นหลัก ดังน
ี้
          1. การพัฒนา เตรียมความพร้อม และสื่อสารทำความเข้าใจให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

              1.1 ปรับความคิด (Mindset) ทั้งในระดับองค์กรและบุคคลให้รองรับการปรับรูปแบบการให้บริการเป็นดิจิทัล
              1.2 สนับสนุนองค์ความรู้ (Knowledge) ด้านดิจิทัลให้กับผู้ให้บริการ โดยสามารถขอความร่วมมือหรือรับการสนับสนุนจากภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญได้
              1.3 สื่อสารทำความเข้าใจระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ถึงงานบริการที่สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการอยู่ และผู้รับบริการสามารถใช้บริการผ่านระบบดิจิทัลได้ รวมทั้งการทำความเข้าใจให้กับผู้รับบริการทั้งในรูปแบบ analog และ digital

          2. การพัฒนาระบบงาน เทคโนโลยี และช่องทางการให้บริการ

              2.1 จัดลำดับความสำคัญและคัดเลือกงานบริการเพื่อพัฒนาในรูปแบบดิจิทัล โดยอาจพิจารณาถึงเรื่องที่มีผลกระทบสูงต่อด้านเศรษฐกิจและสังคม เรื่องที่มีการปรับแก้เพียงกฎระเบียบซึ่งมีขั้นตอนและระยะเวลาไม่มากเพื่อรองรับรูปแบบดิจิทัล หรือเรื่องที่ควรปรับปรุงกระบวนการ/ขั้นตอนเพียงบางส่วนก็สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงงานบริการที่ควรมีการยกเลิกใบอนุญาตหรือจัดให้มีมาตรการอื่นแทนการอนุญาต
              2.2 พัฒนาช่องทางการให้บริการในเรื่องตาม Sector หรือ Agenda ของงานบริการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นรูปแบบดิจิทัล ให้ผู้รับบริการเข้าถึงง่ายขึ้น เช่น การรวบรวมหน่วยงานของรัฐมีอำนาจอนุมัติอนุญาตในเรื่องตาม Sector หรือ Agenda นั้นมาไว้ที่เดียวกัน ในลักษณะเดียวกับศูนย์ One Stop Service ของ BOI
              2.3 สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้รับบริการในการใช้บริการในรูปแบบดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย และได้รับความรวดเร็วในการพิจารณาอนุมัติอนุญาตได้เช่นเดียวกับการดำเนินการ ณ หน่วยงาน
              2.4 พัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินงานในรูปแบบดิจิทัล ทั้งภายในหน่วยงานและระหว่างหน่วยงาน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งภาครัฐสามารถนำข้อมูลบางประเภทไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายหรือให้ความช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและประชาชนได้

         ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดประชุมร่วมกับหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาคัดเลือกงานบริการสำคัญที่จำเป็นต้องพัฒนาในรูปแบบดิจิทัลร่วมกัน ทั้งนี้ กองขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลจะได้ประมวลผลการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอการดำเนินการ และนำเสนอต่อ อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ต่อไป


กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ