สำนักงาน ก.พ.ร. และ GISTDA จัดประชุมหารือแนวทางการใช้ข้อมูลแบบเปิด (Open data) เพื่อแก้ปัญหาเชิงนโยบายและเชิงพื้นที่

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข ได้เป็นประธานในการประชุม “แนวทางการใช้ข้อมูลแบบเปิด (Open data) เพื่อแก้ปัญหาเชิงนโยบายและเชิงพื้นที่” ผ่านการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ซูม (Zoom e-meeting) ซึ่งมีผู้อำนวยการ กองนวัตกรรมภาครัฐ กองขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล กองยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ ผู้แทนจากกองพัฒนาระบบบริหารงานส่วนภูมิภาคเข้าร่วมประชุม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA นำโดย ปฏิบัติงานรองผู้อำนวยการ สทอภ. นางกานดาศรี ลิมปาคม และคณะการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อหารือแนวทางการใช้ข้อมูลแบบเปิด (Open data) ของ GISTDA เพื่อนำไปใช้ต่อยอดในการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายและเชิงพื้นที่ โดยมีสาระการประชุม ดังนี้

         1. การให้บริการGISTDA ให้บริการข้อมูลจำนวนมาก ทั้งจากข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลจาก UAV และข้อมูล IoT จาก sensor ต่าง ๆ โดยทาง GISTDA จัดทำในรูปแบบข้อมูลดิบ ข้อมูลในเชิง Information และข้อมูลเชิง Insight ผ่านทาง GISTDA Portal ซึ่งเปิดเป็นสาธารณะให้ใช้บริการข้อมูลได้

         2. ประเด็นการเชื่อมโยงข้อมูลกับส่วนราชการ ยังมีปัญหาที่ชุดข้อมูลของส่วนราชการยังไม่สามารถเชื่อมต่อได้แบบ real time อย่างไรก็ดี หากมีการบูรณาการข้อมูลของส่วนราชการที่มีเข้ากับข้อมูลของทาง GISTDA จะทำให้สามารถนำไปใช้ในการจัดทำนโยบาย แก้ปัญหาเชิงพื้นที่ แก้ปัญหาเชิง agenda ได้ ซึ่งในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ เช่น การแก้ปัญหา PM 2.5 และปัญหาไฟป่า โดยการเชื่อมข้อมูลในปัจจุบันมีทั้งการเชื่อมผ่าน Application programming interface (API) และการขอข้อมูลเป็นครั้ง ๆ ดังนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. และ GISTDA จะขยายผลความร่วมมือในการเชื่อมข้อมูล โดยในปีนี้หนึ่งในตัวชี้วัดปี 64 มีส่วนราชการเลือกตัวชี้วัด Open Data ซึ่งหากร่วมมือกับส่วนราชการเลือกข้อมูลสำคัญมาดำเนินการเชื่อมต่อให้สำเร็จจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง

         3. การใช้ข้อมูลเพื่อจัดทำนโยบายและการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ ในการนำข้อมูลไปใช้เพื่อจัดทำนโยบาย และการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ GISTDA เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ของข้อมูลที่มากขึ้น การขยายผลการเชื่อมโยงข้อมูล และการถอดบทเรียนในการจัดทำนโยบายแบบใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence base policy making) สำนักงาน ก.พ.ร. จะคัดเลือกจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูง และเรื่องที่เป็นประเด็นมาเป็นโครงการนำร่องในการดำเนินการ เพื่อให้การบริหารจัดการของจังหวัดอย่างเป็นระบบและใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำ

         4. การมีส่วนร่วมของประชาชน และภาคเอกชนในการใช้ข้อมูลแบบเปิด ผู้แทน GISTDA ได้ยกกรณีการใช้ข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาการทะเลาะวิวาท โดยอาศัยข้อมูลที่ส่งมาจากประชาชน และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของข้อมูล ทำให้สามารถประเมิน และคาดการณ์เหตุทะเลาะวิวาทได้ ดังนั้น เพื่อขยายผลการดำเนินการ สำนักงาน ก.พ.ร. จะศึกษาแนวทางการพัฒนาช่องทาง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ และแบ่งปันข้อมูลกับภาครัฐเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้

         5. การศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของชุดข้อมูล ในการเชื่อมโยงข้อมูลในการพัฒนา indicator ต่างๆ ประเด็นที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมคือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชุดข้อมูลว่ามีความสัมพันธ์ (Correlation) หรือไม่ และมีความเป็นเหตุเป็นผลกันหรือไม่ (Causation) โดยต้องอาศัยทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล และองค์ความรู้ในธุรกิจนั้น ๆ ดังนั้น เพื่อให้การใช้ข้อมูลเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ สำนักงาน ก.พ.ร. จะศึกษาแนวทางการศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของชุดข้อมูลร่วมกับ GISTDA เพื่อให้สามารถขยายผลการวิเคราะห์ไปยังเรื่องอื่น ๆ ได้

         6. การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ปัญหาในการวิเคราะห์ข้อมูลคือข้อมูลของทาง GISTDA เป็นข้อมุลทางภูมิศาสตร์ที่มีความจำเพาะ ดังนั้น เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ของชุดข้อมูลได้สูงสุด จำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

         นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการศึกษาพฤติกรรมพร้อมกับแนวโน้มการใช้ e-Service ของประชาชน และความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ก.พ.ร. และ GISTDA ในการพัฒนาองค์ความรู้ของบุคคลากรในวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้เป็นแนวทางและพัฒนาไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์จริงต่อไป

         ผู้สนใจสามารถเข้าดูข้อมูลที่น่าสนใจได้ที่ GISTDA Portal (https://gistdaportal.gistda.or.th/portal/home/)


กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ