สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุม อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม ครั้งที่ 1/2564

แชร์หน้านี้

         
         สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุม อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เป็นประธานในการประชุม สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

         1. เห็นชอบกับข้อเสนอการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสร้างเสริมภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (Open Government and Meaningful Participation Ecosystem) จำนวน 8 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การจัดทำฐานข้อมูลและเก็บข้อมูลที่สำคัญเข้าสู่ระบบ 2) การเปิดเผยข้อมูล (open data) 3) การสื่อสารสร้างความรู้ ความเข้าใจ 4) การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหา 5) การเปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม 6) การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 7) การเสริมสร้างแรงจูงใจเชิงบวก 8) การทบทวน ปรับปรุง แก้ไข กฏหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ โดยให้ฝ่ายเลขานุการไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ได้แก่ การวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน gap/จุดอ่อน กำหนดตัวชี้วัด ตัวอย่างความสำเร็จ Best Practice ปัญหา ของทั้ง 8 องค์ประกอบ รวมทั้งมีข้อเสนอ/แนวทางในการดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

         2. เห็นชอบแนวทางการพัฒนาช่องทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ โดยให้เสนอโครงการเพื่อขอทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกอบด้วยกิจกรรมการจัดทำสื่อเพื่อเผยแพร่ และการเปิดเวทีให้เยาวชน คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการคิด วางแผน ออกแบบ เพื่อขับเคลี่อนการพัฒนาระบบราชการยุคใหม่ ทั้งนี้ขอให้เน้น online มากกว่า on ground

         3. เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง : การแก้ไขปัญหาคนจนเมือง โดยให้มีการนำร่องในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และให้นำองค์ประกอบของการพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อสร้างภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (Open Government and Meaningful Participation) จำนวน 8 องค์ประกอบมาดำเนินการ

         4. รับทราบแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ดังนี้ 1) ประสานความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA เพื่อเปิดเผยข้อมูลดาวเทียมแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ 2) หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดข้อจำกัดของการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ 3) ลงพื้นที่เพื่อทดลองนำร่องการสร้างระบบนิเวศเพื่อสร้างภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ณ จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดลำปาง


กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ