รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางนันทนา ธรรมสโรช) และเจ้าหน้าที่ ก.พ.ร. เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของสำนักงบประมาณ

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2563 เวลา 10:00 น. ณ ห้องประชุม ดร.ป๋วยฯ สำนักงบประมาณ โดยรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางนันทนา ธรรมสโรช) พร้อมด้วยผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบราชการ 2 (นางสาวมัตติกา เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบราชการ (นายจิรวัฒน์ ระโหฐาน) และเจ้าหน้าที่ ก.พ.ร. เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของสำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นการประชุมหารือการขอจัดตั้งส่วนราชการระดับกอง โดยขอเพิ่มหน่วยงานในภูมิภาคจำนวน 7 กอง คือ สำนักงานงบประมาณเขตที่ 12 – 18 สำนักงบประมาณได้ทบทวนบทบาทภารกิจเพื่อให้รองรับกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นจากบทบัญญัติของกฎหมาย อาทิ มีหน่วยรับงบประมาณในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น (จำนวน 7,850 หน่วย) การติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณทีเน้นทั้งก่อน – ระหว่าง – หลัง การพิจารณาเงินนอกงบประมาณ เป็นต้น นอกจากนี้ สำนักงบประมาณได้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการงบประมาณของสำนักงบประมาณ แต่อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์งบประมาณยังคงต้องอาศัยการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ การขยายเขตพื้นที่ครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำของการกระจุกตัวทรัพยากร ทำให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะจากหน่วยรับงบประมาณในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วตรงกับความต้องการและทันการณ์มากขึ้น ในการนี้ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้ให้ข้อสังเกตและข้อคิดเห็นในการประชุม ดังนี้

          1) การปรับปรุงโครงสร้างของสำนักงบประมาณตามหลักเกณฑ์การมอบอำนาจตาม ว 3/2562 เนื่องจากมีการจัดตั้งหน่วยงาน (สำนักงานงบประมาณเขต 12-18) เพิ่มขึ้นใหม่ และต้องมีข้อเสนอ one in X out ซึ่งต้องเป็นข้อเสนอในการยุบเลิกภารกิจที่เสนอมาพร้อมโครงสร้าง เช่น กรมต่าง ๆ อาจพิจารณานำภารกิจที่มีอยู่ในแผนการกระจายอำนาจนำมาเป็นข้อเสนอได้ หรือกรณีที่ไม่มี one in X out อาจพิจารณาเสนองานที่เกี่ยวข้องกับ Open Gov ที่สำนักงบประมาณกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งหากไม่มี จะต้องขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้ รวมถึงการขอจัดตั้งหน่วยงานส่วนกลางในภูมิภาคเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีหน่วยงานอยู่เเล้ว จะต้องขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเช่นกัน

          2) การทำงานให้มีประสิทธิภาพจะต้องฟังเสียงของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ อีกทั้งควรเพิ่มเติมประเด็น People – Audit ที่จะทำให้ประชาชนสามารถติดตาม (Tracking) งบประมาณ ได้

          3) ตัวชี้วัดที่เสนอเป็นการวัดประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงิน ยังไม่ได้ตอบประโยชน์ที่ประชาชนหรือประเทศชาติจะได้รับ โดยขอให้เพิ่มตัวชี้วัดที่ใช้วัดความสำเร็จในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างไร และตัวชี้วัดความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อการจัดสรรงบประมาณที่ตรงกับความต้องการในพื้นที่ภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด และเมื่อมีหน่วยงานในพื้นที่แล้วจะสามารถลดความซ้ำซ้อนของงบประมาณทั้งในมิติของพื้นที่ (Area) และมิติของกระทรวง กรม (Function)

         มติที่ประชุม คณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของสำนักงบประมาณ ได้มีมติเห็นชอบกับการปรับปรุงโครงสร้างของสำนักงบประมาณใน 4 ประเด็น ได้แก่ (1) การขอจัดตั้งสำนักงานงบประมาณเขตพื้นที่ 12 - 18 (2) การปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของสำนักงบประมาณ (3) การปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการระดับกอง 21 กอง และ 2 กลุ่มงาน (4) การเปลี่ยนชื่อและปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการระดับกอง 12 กอง ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ และให้สำนักงบประมาณรับข้อสังเกตของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปดำเนินการก่อนที่จะส่งคำขอมาให้ ก.พ.ร. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป


กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ