คณะทำงานขับเคลื่อนและขยายผลการให้บริการหรือการทำงานบนระบบออนไลน์ (e-Service) ในส่วนราชการ ของสำนักงาน ก.พ.ร. ได้เข้าพบปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 คณะทำงานขับเคลื่อนและขยายผลการให้บริการหรือการทำงานบนระบบออนไลน์ (e-Service) ในส่วนราชการ ของสำนักงาน ก.พ.ร. นำทีมโดยรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางนันทนา ธรรมสโรช) นางสาวมัตติกา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบราชการ 2 นางสาวดารณี เกิดประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เข้าพบปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์) และผู้บริหารของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม

         วัตถุประสงค์ของการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบ e-Service ของหน่วยงานภาครัฐ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

         งานบริการเป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
          1. งานบริการ Agenda "One Identification One SMEs"
(small yellow diamond)นโยบายของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคือ “การใช้ตลาดและนวัตกรรมนำอุตสาหกรรม” โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนงานของกระทรวงให้เป็น Digital รวมทั้งการพัฒนาระบบ I-Connect เพื่อรองรับการเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานภายนอกในอนาคต
(small yellow diamond)กระทรวงอุตสาหกรรมมีความเห็นสอดคล้องกับสำนักงาน ก.พ.ร. ในการพัฒนางานบริการ Agenda "One Identification One SMEs" เนื่องจากที่ผ่านมา ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับ SMEs ของประเทศคือ การบูรณาการฐานข้อมูล SMEs ร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

         ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการพัฒนางานบริการ Agenda "One Identification One SMEs" เป็นรูปธรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ควรมุ่งเน้นการทำ Data Cleansing เป็นลำดับแรก เพื่อให้ฐานข้อมูล SMEs ของประเทศถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ และทันสมัยพร้อมใช้งาน (Correct / Complete และ Up-to-date)

         ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นางวรวรรณ ชิตอรุณ) กำกับการดำเนินงานของกระทรวงและกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดการดำเนินงานภายในของกระทรวง และกระทรวงจะจัดการประชุมระดับผู้บริหารของกระทรวงร่วมกับผู้บริหารสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อติดตามการดำเนินงานทุกไตรมาส

          2. งานบริการที่พัฒนาต่อยอดหรือยกระดับการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้แบบเบ็ดเสร็จ
(small yellow diamond)ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นด้วยกับสำนักงาน ก.พ.ร. ในการกำหนดให้งานบริการเป็นตัวชี้วัด และได้มอบหมายให้แต่ละกรมคัดเลือกงานบริการ 3 งานบริการที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างเป็นหลัก และเสนอปลัดกระทรวงพิจารณาภายในวันศุกร์ที่ 25 กันยายน 2563 โดยสรุปดังนี้
             (1) สำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม - ดูภาพรวมทั้งหมด
             (2) กรมโรงงานอุตสาหกรรม - การพัฒนา e-licence การนำออกกากอุตสาหกรรม, การจดทะเบียนเครื่องจักรก่อนการสำรวจ, ระบบติดตามผล (monitoring) ด้านสิ่งแวดล้อม (PM 2.5)
             (3) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม - ระบบการขึ้นทะเบียน Service provider ของที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ, รายการหลักสูตรการอบรม, การอบรม/การให้คำปรึกษาออนไลน์
             (4) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ - เห็นด้วยกับที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และเพิ่มเติมระบบการชำระค่าภาคหลวง
             (5) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย – การเชื่อมโยงฐานข้อมูลเกษตรกรชาวไร่อ้อย เข้ากับระบบทะเบียนราษฎรและโฉนดที่ดินในการยืนยันพื้นที่เกษตรกรรม
             (6) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม - ต่อยอดจากระบบ Single Window
             (7) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม – ระบบการแบ่งกลุ่มนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมกลุ่ม S-curve

         ในการนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมมีความเห็นว่า การขับเคลื่อน e-Service ควรมีการวางแผนดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในระยะยาว และปรับรูปแบบการดำเนินงานของภาครัฐให้ใช้การประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อช่วยให้ดำเนินงานได้โดยไม่ติดข้อจำกัดเรื่องงบประมาณภาครัฐ์

ขวัญกมล / ข้อมูล
กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ