นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานกล่าวเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานกล่าวเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 โดยได้กล่าวขอบคุณผู้แทนส่วนราชการ ภาคเอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่มาร่วมประชุมฯ ที่ผ่านมาสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยมุ่งหวังให้ประชาชนได้รับความสะดวกในเรื่องเร็วขึ้น (Faster) ง่ายขึ้นหรือสะดวกขึ้น (Easier) และค่าใช้จ่ายถูกลง (Cheaper) เช่น การส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐมีการให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการทบทวนกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และขอให้ทุกท่านแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงพระราชบัญญัติฯ ให้เหมาะสมต่อไป

         จากนั้น นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวถึงการผลักดันการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ เช่น การปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชน การลดระยะเวลาและขั้นตอนการให้บริการ การลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน และการพัฒนาการออกเอกสารราชการผ่านระบบดิจิทัล รวมทั้งผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดย นายจุมพล ศรีจงศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนากฎหมาย และนายอภิชน จันทรเสน นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงหลักการและแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย
นอกจากนี้สำนักงาน ก.พ.ร. ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) ภาคเอกชน ภาคประชาชน และนักวิชาการ และ (2) หน่วยงานภาครัฐ โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. และนางสาววิริยา เนตรน้อย ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ เป็นผู้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็น

         กลุ่มภาคเอกชน ภาคประชาชน และนักวิชาการ มีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ ที่สำคัญ เช่น
         1. การมีแพลตฟอร์มในการให้บริการเพื่อให้ประชาชนแจ้งหรือตรวจสอบเรื่องร้องเรียนได้
         2. การประชาสัมพันธ์คู่มือสำหรับประชาชนให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น
         3. การพัฒนาให้เกิดสภาพบังคับ (Enforcement) อย่างจริงจัง
         4. การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อให้เกิดการอนุมัติอนุญาตที่เป็น One Stop Service อย่างแท้จริง

         กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ มีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ ที่สำคัญ เช่น
         1. การมีแพลตฟอร์มให้หน่วยงานสามารถแจ้งกรณีล่าช้าทุก ๗ วัน รวมทั้งอาจเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบเรื่องที่ขออนุมัติอนุญาตไว้ได้
         2. เปิดโอกาสให้บางหน่วยงานที่มีลักษณะเฉพาะสามารถเรียกรับเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมได้ เนื่องจากบางเรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน
         3. การจัดตั้งศูนย์รับคำขอฯ ในอนาคตอาจไม่จำเป็นหากมีระบบการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์


กองนวัตกรรมบริการภาครัฐ / ข้อมูล
กองยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ / ภาพ
กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ