สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมชี้แจงแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยกองติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการพัฒนาระบบราชการ จัดการประชุมชี้แจงแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมี นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ณ ห้องจตุรทิศ แกรนด์ บอลรูม โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน

         เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวถึงการจัดทำตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการปฏิบัติราชการว่าเปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพ เพื่อให้ทราบว่าสิ่งที่เป็นอยู่/ดำเนินการอยู่ดีแล้วหรือไม่ ซึ่งการตรวจสุขภาพเป็นที่ทำเพื่อตัวเราเอง ในขณะที่การจัดทำตัวชี้วัดนั้นทำเพื่อสังคม แสดงถึงความรับผิดชอบของภาครัฐต่อประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งการกำหนดตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพเป็นส่วนหนึ่งของการสะท้อนหลักธรรมาภิบาล ทั้งนี้ ในปี 2564 ได้ปรับปรุงแนวทางการประเมินฯ โดยจำแนกการประเมินเป็น 2 องค์ประกอบ ได้แก่ การประเมินประสิทธิผลการดำเนินงาน (Performance Base) ซึ่งเป็นการประเมินผลสำเร็จของงาน โดยมองภาพระยะสั้นว่าทำได้หรือไม่ได้เพียงใด และการประเมินศักยภาพในการดำเนินงาน (Potential Base) ซึ่งเป็นการมองภาพในระยะยาวเพื่อความยั่งยืนของส่วนราชการที่จะตอบสนองการทำงานที่มุ่งไปสู่เป้าหมาย นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการจัดทำ Joint KPIs เพื่อบูรณาการการทำงานระหว่างส่วนราชการ เพื่อผลักดัน Agenda สำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งกำหนดให้ส่วนราชการระดับกรมมีตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับประเด็นการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ด้วย

         เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มพัฒนาระบบบริหารของส่วนราชการเป็นเครือข่ายที่สำคัญที่จะช่วยกันขับเคลื่อนระบบราชการไปข้างหน้าและเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ

         นางสาวสุรุ่งลักษณ์ เมฆะอำนวยชัย รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวถึงการประเมินส่วนราชการฯ ในปี 2563 ว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ส่วนราชการมีภารกิจในการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้นจึงขอให้ส่วนราชการรายงานผลการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัดเดิมตามภารกิจปกติ และตัวชี้วัดใหม่ที่เป็นการดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาของโรคโควิด-19 เพื่อใช้ในการติดตามผล (Monitoring) รวมถึงการถอดบทเรียนจากการดำเนินการดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อไป ทั้งนี้ จะไม่มีการนำผลการดำเนินงานมาประเมินเป็นคะแนนของส่วนราชการ สำหรับการประเมินฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดตัวชี้วัดการพัฒนาองค์การสู่ดิจิทัล เพื่อสร้างนวัตกรรมในการปรับปรุงกระบวนงาน รวมถึงการให้บริการประชาชนในรูปแบบ e-Service โดยมีเป้าหมายสู่การเป็น Government 4.0 และมีการนำผลการประเมิน PMQA 4.0 มาเป็นส่วนหนึ่งขอการประเมินฯ ในองค์ประกอบ Potential Base ด้วย

         จากนั้นเป็นการชี้แจงแนวทางการประเมินส่วนราชการฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยนางศิริเนตร กล้าหาญ ผู้อำนวยการกองติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการพัฒนาระบบราชการ นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. และ นางสาววิริยา เนตรน้อย ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ มาร่วมตอบข้อซักถามในประเด็นที่เกี่ยวกับการประเมินตัวชี้วัด PMQA 4.0 และ e-Service ด้วย


กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ