สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ครั้งที่ 1/2563

แชร์หน้านี้


         เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ครั้งที่ 1/2563 โดยมีนางจุรี วิจิตรวาทการ เป็นประธานสรุปผลการประชุม ดังนี้

         1.เห็นชอบแนวทางการพัฒนางานบริการภาครัฐในบริบทการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมที่ได้จากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในการพัฒนาบริการภาครัฐ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรม เดอะ สุโกศล โดยมีประเด็นรับฟังความคิดเห็น 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ช่องทางการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐ 2) สิทธิการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง และ 3) สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการมีส่วนร่วมในสังคม ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอสรุปผลการประชุมฯ ในประเด็นต่าง ๆ และนำเสนอแนวทางในการดำเนินการต่อไป 3 แนวทาง ได้แก่

            - TRUST IN GOVERNMENT การเปิดเผยข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูล เผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ การคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐในการให้ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการเชื่อมโยงข้อมูลของภาครัฐและเปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้

            - REFORM STATION การเปิดรับฟังความคิดเห็นในกลุ่มเปราะบางที่ครอบคลุมและกำหนดประเด็นที่ชัดเจน การจัดทำฐานข้อมูลสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ครบถ้วน/ครอบคลุม เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด รวมถึงการสร้างค่านิยมใหม่ให้กับข้าราชการในการยอมรับ เรื่องสิทธิมนุษยชนและการสร้างความเท่าเทียม

            - COMPLAIN ONE STOP SERVICE เป็นช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบสถานะ โดยมีการตอบสนองข้อร้องเรียนที่รวดเร็ว ตลอดจนเปิดเผยข้อร้องเรียนให้เป็นสาธารณะ เพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

         2. เห็นชอบแนวทางการติดตามสถานะผลงานทีได้รับรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ส่วนราชการที่เคยได้รับรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมในระดับดีเด่น หรือดีเยี่ยม (ย้อนหลัง 5 ปี) เพื่อประเมินความยั่งยืนและนำไปสู่การขยายผลการพัฒนาเรื่องการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม

         3.รับทราบผลงานวิจัยเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมเรื่องแนวทางการพัฒนาระบบการท่องเที่ยวในเขตเมืองอย่างยั่งยืนโดยการบริหารราชการแบบเครือข่าย : การศึกษาเชิงเปรียบเทียบระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย พบว่า แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีรูปแบบการกำกับดูแลการท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน แต่การบริหารราชการแบบเครือข่ายสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการบริหารจัดการท่องเที่ยวในเขตเมืองของทั้ง 2 ประเทศ

ตวงทอง / ข้อมูล
กลุ่มงานเลขานุการ ก.พ.ร. และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ