สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมรับฟังความเห็นแนวทางการยกเลิกใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุมัติ อนุญาต ของทางราชการ

แชร์หน้านี้

         
         เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมรับฟังความเห็นแนวทางการยกเลิกใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุมัติ อนุญาต ของทางราชการ โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร กล่าวชี้แจงแนวทางการยกเลิกใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมฯ พร้อมรับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ โฮเต็ล ประตูน้ำ

         แนวคิดการยกเลิกค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุมัติ อนุญาต ของทางราชการ เป็นผลสืบเนื่องจากผลการประชุมของ อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมและยกระดับการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการและการประกอบธุรกิจ ที่เห็นควรให้ทบทวนหรือยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็น และเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน และไม่คุ้มค่ากับต้นทุนการดำเนินงานของภาครัฐ

         หลังจากที่ได้มีการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานพบว่า หลายหน่วยงานไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกค่าธรรมเนียม พร้อมเสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์ ดังนี้

        1) ค่าธรรมเนียมที่ระบุในฐานข้อมูล www.info.go.th หลายกระบวนงานเป็นค่าคำขอ และ/หรือ เป็นค่าบริการ ซึ่งในกรณีค่าคำขออาจดำเนินการยกเลิกได้ สำหรับการเก็บค่าธรรมเนียมบางประเภทที่เป็นค่าบริการ ยังมีความจำเป็น เช่น กรมวิชาการเกษตร มีการจัดเก็บค่าบริการทดสอบสารเคมีต่าง ๆ ที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับห้องปฏิบัติการ

         2) ระบบการดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถช่วยให้งานบริการสะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งต้องมีงบประมาณในการออกแบบระบบ และการดูแลในระยะยาว จึงต้องพิจารณาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม
ซึ่งหน่วยงานมีความเห็นว่า หากมีระบบบริการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวก ประเด็นเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมไม่น่าเป็นภาระกับผู้รับบริการ

         3) ใบอนุญาตที่เกี่ยวกับวิชาชีพ หน่วยงานเห็นว่าไม่ควรยกเลิกการจัดเก็บ เนื่องจากเกี่ยวกับมาตรฐานสากล และความเชื่อถือ

         4) ลักษณะใบอนุญาต ประเภทวัตถุอันตราย เชื้อโรค ศิลปกรรม โบราณวัตถุ ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ควรยกเลิก เนื่องจากเป็นการแสดงหลักฐานในการตรวจสอบ หรือมีผลกระทบในวงกว้าง

         5) ข้อมูลค่าธรรมเนียมที่ปรากฏเป็นจำนวนน้อยเนื่องจากเป็นอัตราค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บต่อหน่วย (per unit) แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมต่อปี หรือทั้งประเทศจะเป็นรายได้จำนวนมาก

         6) รายได้จากค่าธรรมเนียมบางกระบวนการ เป็นรายได้นอกงบประมาณ ที่ต้องนำไปใช้ประโยชน์ในส่วนอื่น เช่น การสนับสนุนการทำงานของท้องถิ่น กองทุนสนับสนุนโบราณวัตถุ หรือกองทุนสนับสนุนเกษตรกร ฯลฯ ทำให้มีความจำเป็นต้องจัดเก็บต่อไป

         7) กฎหมายที่ระบุให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ควรมีการหารือร่วมกันก่อนดำเนินการ

         8) หน่วยงานเห็นควรต้องกลับไปทบทวนความคุ้มทุน เช่น ด้านอัตรากำลัง ด้านเอกสาร เป็นต้น ที่ทำให้ทราบต้นทุนที่แท้จริง ทำให้หน่วยงานพิจารณาดำเนินการได้อย่างเหมาะสม รวมทั้ง ประเภทการต่ออายุใบอนุญาต ให้พิจารณาความจำเป็นว่าต้องมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือไม่

         9) กฎหมายที่กำหนดให้มีการระบุค่าธรรมเนียมประกาศไว้นานแล้ว อัตราที่เดิมจึงไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องกับต้นทุนในปัจจุบัน ต้องนั้นอาจถึงเวลาต้องทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าธรรมเนียม กรณีที่พิจารณาแล้วพบว่าต้องมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น ให้หน่วยงานพิจารณาถึงขีดความสามารถในการแข่งขันและการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก

         10) หน่วยงานเห็นควรให้เสนอแนวทางเพื่อให้หน่วยงานดำเนินการทบทวนการพิจารณาฯ ภายใน 6 เดือน

         ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ได้รับจากการพิจารณาทบทวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ถือเป็นการลดรายจ่ายที่เป็นต้นทุนในการดำเนินการออกใบอนุญาตที่ไม่คุ้มค่าต่อภารกิจของรัฐ และลดค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตของประชาชน รวมทั้งลดภาระให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ลดขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินงานของประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการดำเนินงานของภาครัฐอย่างโปร่งใส รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกต่อประชาชนในการติดต่อกับภาครัฐ ซึ่งผลจากการรับฟังความเห็นดังกล่าว จะนำไปใช้ประกอบการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป


กลุ่มงานเลขานุการ ก.พ.ร. และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ