ข้าราชการสำนักงาน ก.พ.ร. ศึกษาดูงานการบริหารจัดการองค์กรและการดูแลสิ่งแวดล้อม บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด

แชร์หน้านี้

     
         เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นำข้าราชการสำนักงาน ก.พ.ร. ศึกษาดูงานการบริหารจัดการองค์กรและการดูแลสิ่งแวดล้อม บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด ณ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เพื่อศึกษาเรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการองค์กรของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จในการบริหารองค์กร ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) และเป็นองค์กรที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นการพัฒนาและเสริมสร้างความรู้ วิสัยทัศน์ และทัศนคติให้แก่ข้าราชการสามารถนำความรู้ไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาระบบราชการให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยมีนายประทีป โยปินตา ผู้จัดการส่วนพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ Green Factory and CSR

          นอกจากนี้ยังมีการบรรยายหัวข้อ Green Quarry and Biodiversity โดยนายศุภกร จินดาสถาพร พร้อมเยี่ยมชม Quarry View Point and Mine Blasting และ Rehabilitation Learning Center  โดยมีนายชาตรี ปลอดโปร่ง และทีมงานพาเยี่ยมชม รวมทั้งยังศึกษาดูงานโครงการธนาคารขยะ ณ โรงเรียนวัดถ้ำเต่า โดยมีนายทนงยุทธ จันทกูล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าคล้อ และนายสมชาย แสงดวงมาศ ผู้อำนวยการโรงเรียนให้การต้อนรับ ตลอดจนข้าราชการสำนักงาน ก.พ.ร.ได้ร่วมเป็นจิตอาสาสร้างฝายชะลอน้ำและปลูกต้นไม้ ณ ป่าเขาคล่าว บ้านถ้ำเต่า ตำบลท่าคล้อ 

          บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (Siam Cement Group :SCG) ประกอบด้วย 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ธุรกิจซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง  โดยในส่วนของธุรกิจซีเมนต์ ปัจจุบันที่แก่งคอยมีกำลังในการผลิตมากที่สุด โดยมีพนักงานร้อยละ 60 เป็นคนในพื้นที่ และได้รับรางวัลด้านต่าง ๆ รวมถึงรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมหลายรางวัล 

          SCG ได้ออกแบบการทำเหมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า “Semi Open Cut” เป็นการทำเหมืองแบบตัดยอด (Open Cut) และ การขุดตัก (Open Pit) โดยเว้นพื้นที่ขอบให้เป็นพื้นที่สีเขียว หรือ Buffer Zone เพื่อคงทัศนียภาพของขอบแนวเขาตามเหมือนการปอกแตงโทแล้วคว้านเอาแต่เนื้อข้างใน  ทำให้ลดเสียง ฝุ่น และแรงสั่นสะเทือนที่จะออกไปสู่ชุมชนข้างนอก ช่วยรักษาความสมบูรณ์ของป่าไม้ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเก็บภาพความสมบูรณ์ของป่าไว้เมื่อมองจากด้านนอก นอกจากนี้ ในการทำเหมือง ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในทุกขั้นตอน ได้แก่ 1) การวางแผน เพื่อให้นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด 2) การระเบิด ปรับปรุงรูปแบบและเทคนิคการทำเหมืองที่จะช่วยลดผลกระทบต่าง ๆ ทั้งเสียง แรงสั่นสะเทือนและสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดระยะเวลาการทำเหมืองที่ชัดเจน และสื่อสารให้ชุมชนโดยรอบได้รับทราบ พร้อมทั้งส่งพนักงานเข้าไปสังเกตการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้น 3) การบดย่อย ทำในระบบปิด เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง อีกทั้ง มีสเปรย์น้ำและกรองฝุ่นเพื่อไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจายสู่ภายนอก และ 4) การขนส่ง มีการใช้รถบรรทุกน้ำฉีดพรมเส้นทางขนส่งและควบคุมความเร็วของรถในการวิ่ง รวมทั้งสร้างบ่อน้ำไว้สำหรับกักเก็บน้ำฝนไว้ในเหมือง ซึ่งการทำเหมืองนี้มุ่งมั่นใช้ทรัพยากรบนเหมืองอย่างคุ้มค่า เป็น Zero Waste Mining ให้หินทุกตันบนภูเขาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด 

          ในด้านการฟื้นฟูเหมืองได้ทำควบคู่ไปกับการทำเหมือง เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีการวางแผนที่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่เดิม มีการปรับพื้นที่โดยคำนึงถึงการเข้ามาใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่า และการระบายน้ำ มีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไม้ท้องถิ่นในพื้นที่ การเพราะเมล็ดพันธ์ท้องถิ่นให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรง และปลูกต้นไม้ และตรวจติดตามพันธุ์ไม้เพื่อปลูกใหม่ ซ่อมแซม ตลอดจนอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ความสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้ สัตว์ป่าที่เข้ามาอาศัย เพื่อคืนความสมดุลให้ระบบนิเวศน์         

         นอกจากนี้ SCG ยังดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ภายใต้แนวคิด อาทิ “หนึ่งหน่วยงาน หนึ่งโครง” “เปลี่ยนคนรู้จัก เป็นคนรู้ใจ” และ “คนบ้านเดียวกัน” รวมทั้งทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย 

          ในส่วนของโครงการธนาคารขยะ ณ โรงเรียนวัดถ้ำเต่า เป็นการดำเนินการคัดแยกขยะจากในครัวเรือนซึ่งเป็นต้นทาง แล้วนำมาคัดแยกแบ่งประเภทของขยะในธนาคารขยะ และนำไปจำหน่ายสร้างรายได้และ เป็นเงินทุนหมุนเวียนในโรงเรียน นำไปต่อยอดทางงานศิลปะและเพิ่มมูลค่าจากขยะ เช่น กระเป๋าจากซองกาแฟ ตลอดจนนำขยะไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น ทำปุ๋ย ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้การสร้างมูลค่าจากขยะ มีรายได้ มีจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง SCG ได้สนับสนุนโครงการในหลายด้าน เช่น ให้ความรู้ ให้เงินทุนตั้งต้นและรับซื้อขยะเพื่อนำไปทำเชื้อเพลิง โดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน 

         ทั้งนี้ 3 องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งในการดำเนินการ คือ ผู้นำชุมชนให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษา ผู้อำนวยการและครู เอาใจใส่นักเรียน ผลักดันโครงการขยะและการออมทรัพย์ และความร่วมมือที่จริงใจจากภาคเอกชนอย่าง SCG ในการดูแลชุมชน ซึ่งเป็นโมเดลที่น่าสนใจที่จะสร้างความแข็งแกร่งและสิ่งที่ดีในอนาคต


กลุ่มงานเลขานุการ ก.พ.ร. และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ