หน่วยงานรัฐเร่งให้บริการด้วย e-Services อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจของไทย

แชร์หน้านี้

         
       เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุม เรื่อง ยกระดับประสิทธิภาพภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ณ ห้องกมลทิพย์ 1 โรงแรม เดอะสุโกศล เพื่อแสดงตัวอย่างการปฏิรูปบริการภาครัฐในปีที่ผ่านมา และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ภาคธุรกิจเอกชนได้รับทราบความก้าวหน้าในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อให้การบริการภาครัฐมีความรวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น ลดค่าใช้จ่าย และมีกฎระเบียบที่ทันสมัย อันเป็นการพัฒนาระบบราชการเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน และช่วยอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวเปิดการประชุม และบรรยายเรื่อง การพัฒนาระบบราชการ โดส่งเสริมการใช้ดิจิทัลเพื่อการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจของประเทศไทย

        นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า การพัฒนาระบบราชการจะมุ่งสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 โดยเน้นให้บริการที่เร็วขึ้น ง่ายขึ้น และมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงาน เช่น มาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน (การไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้จากประชาชน) ที่ให้หน่วยงานรัฐเชื่อมข้อมูลกันเพื่อประชาชนไม่ต้องนำสำเนาไปติดต่อราชการ พัฒนาระบบ Biz Portal ศูนย์กลางการให้บริการเพื่อประกอบธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร และ Application CITIZENinfo ที่สามารถค้นหาบริการภาครัฐ จุดให้บริการ และข้อมูลต่าง ๆ ในการให้บริการ รวมทั้งให้คะแนนความพึงพอใจต่อการรับบริการของจุดบริการนั้น ๆ ได้ 

       ในการประชุมมีการนำเสนอผลการพัฒนาการยกระดับประสิทธิภาพภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกบธุรกิจในแต่ละด้าน ได้แก่ ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย โดยนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ โดยนายสมบุญ โมจนกุล ผู้อำนวยการกองทะเบียนธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง โดยนางสุธาทิพย์ จุลมนต์ ทัศนชัยกุล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ประจำสำนักประธานศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน โดยนายวราพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสำรวจ กรมที่ดิน ด้านการชำระภาษี โดยนางสาวขนิษฐา สหเมธาพัฒน์ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมสรรพากร และนายพงษ์ศักดิ์ ศศิมหศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย โดยนางสุวรรณา เชื้อบุญชัย ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและพัฒนา สำนักงาน ก.ล.ต. ด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยนายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร กรมศุลกากร ด้านการขอใช้ไฟฟ้า โดยนายวจี พิทักษ์ปรัชญากุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง และ ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง โดยนายสุรัช ติระกุล หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมอาคาร 1 กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ในปีนี้ ภาครัฐได้เร่งพัฒนาคุณภาพการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นไปที่การให้บริการผ่านระบบดิจิทัล มากยิ่งขึ้น ซึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่ 

          • การเริ่มต้นธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดให้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ได้ทุกประเภทผ่านระบบ 
e-Registration และพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ลดจำนวนข้อมูลที่จะต้องกรอกลงในแบบฟอร์ม รวมทั้งกำลังพัฒนาระบบให้สามารถยืนยันตัวตนแบบ VDO Call ผ่านเว็บไซต์และ smart device 

        • การจดทะเบียนทรัพย์สิน กรมที่ดินได้พัฒนาแอพพลิเคชัน LandsMaps ให้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินได้อย่างสะดวก ทั้งตำแหน่ง ราคาประเมิน ค่าธรรมเนียม ภาษีอากร ค่าใช้จ่ายในการรังวัด คิวรังวัด รวมทั้งขยาย
การซ้อนทับข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน และผังเมืองทั่วประเทศ 

       • การได้รับสินเชื่อ ได้แก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจให้มีนิยามครอบคลุมมากขึ้น เช่น สิทธิในเงินฝาก สินค้าคงคลัง เครื่องจักร เป็นต้น 

         • การคุ้มครองนักลงทุนเสียงข้างน้อย ได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ เพื่อลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่จะใช้สิทธิเรียกประชุมวิสามัญจาก 20% เหลือ 10% และใช้สิทธิผู้ถือหุ้น 5% เสนอวาระในการประชุมผู้ถือหุ้น ล่วงหน้าเช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน 

     • การชำระภาษี กรมสรรพากรได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ระบบบริการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) 

     • การค้าระหว่างประเทศ ได้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการด้วยกระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนมาถึง (Pre-Arrival Processing system) ที่เปิดใช้งานทุกพื้นที่แล้ว ซึ่งช่วยลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการนำสินค้าผ่านแดน พร้อมส่งเสริมสนับสนุนการนำสินค้าเข้าด้วย Pre-Arrival Processing system ด้วย 

         • การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง สำนักงานศาลยุติธรรมได้พัฒนาระบบการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในหลายงานบริการ เช่น การยื่นฟ้องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) การชำระค่าธรรมเนียมศาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) การเผยแพร่คำพิพากษาทางอิเล็กทรอนิกส์ (Publication of judgement) ระบบติดตามสำนวน (Case Information Online Service: CIOS (cios.coj.go.th) และระบบ Tracking รวมทั้ง กรมบังคับคดีได้ พัฒนา Mobile Application เช่น ค้นหาทรัพย์ขายทอดตลาด (LED property) ข้อมูลอายัดเงินในคดี (LED Debt info) การขายทอดตลาดทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Offering Auction) เป็นต้น 

       • การแก้ปัญหาล้มละลาย กรมบังคับคดีได้พัฒนาการให้บริการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ระบบสอบถามสถานะคดี ระบบรับยื่นคำร้องทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน e-Filing และค้นหาและตรวจสอบบุคคลล้มละลายและนิติบุคคลล้มละลาย (LED Application Bankruptcy Checking)

         นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Biz Portal เว็บเดียวครบ จบทุกเรื่อง ที่ https://biz.govchannel.go.th/ ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) พัฒนาขึ้น เพื่อให้บริการแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Transaction) ครอบคลุมการขออนุญาตรายใหม่ การต่ออายุ การแก้ไข/เปลี่ยนแปลง และการยกเลิก ที่สามารถขออนุญาตได้หลายใบอนุญาตในครั้งเดียว โดยกรอกข้อมูลที่ซ้ำกันครั้งเดียว (Single Form) ยื่นเอกสารหลักฐานชุดเดียว ผ่านระบบออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมทั้งติดตามสถานะพิจารณาอนุญาตได้ตลอดเวลา ซึ่งเปิดให้บริการแล้วใน 10 ธุรกิจ 40 ใบอนุญาต และยังขยาย การให้บริการอนุญาตประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกและร้านอาหาร จำนวน 9 ใบอนุญาต ไปยังจังหวัดนำร่อง 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดราชบุรี พร้อมตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2562 จะขยายการดำเนินงานอีก 15 ธุรกิจ 30 ใบอนุญาต รวมเป็น 70 ใบอนุญาต


กลุ่มงานเลขานุการ ก.พ.ร. และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ